post-knowledges-ceramics Archives - MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ https://www.mtec.or.th/category/post-knowledges-ceramics/ National Metal and Materials Technology Center Thu, 22 May 2025 07:13:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.8.1 https://www.mtec.or.th/wp-content/uploads/2019/03/favicon.ico post-knowledges-ceramics Archives - MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ https://www.mtec.or.th/category/post-knowledges-ceramics/ 32 32 ไบโอชาร์ ถ่านที่ไม่ธรรมดา https://www.mtec.or.th/biochar-carbon-removal/ Wed, 21 May 2025 04:16:58 +0000 https://www.mtec.or.th/?p=37715 ไบโอชาร์ (biochar) แตกต่างจากถ่านทั่วไป (charcoal) ตรงจุดมุ่งหมายหลักของการใช้ประโยชน์ เนื่องจากถ่านทั่วไปใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ไบโอชาร์ใช้เพื่อกักเก็บคาร์บอนในระยะยาวด้วยการตรึงคาร์บอนในรูปของแข็งที่มีความเสถียรมากขึ้น

The post ไบโอชาร์ ถ่านที่ไม่ธรรมดา appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

ไบโอชาร์ ถ่านที่ไม่ธรรมดา

เรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

ไบโอชาร์ (biochar) แตกต่างจากถ่านทั่วไป (charcoal) ตรงจุดมุ่งหมายหลักของการใช้ประโยชน์ เนื่องจากถ่านทั่วไปใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ไบโอชาร์ใช้เพื่อกักเก็บคาร์บอนในระยะยาวด้วยการตรึงคาร์บอนในรูปของแข็งที่มีความเสถียรมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้ชีวมวลอินทรีย์ย่อยสลายไปตามธรรมชาติและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

ไบโอชาร์เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการกำจัดคาร์บอน (carbon removal) ที่สามารถช่วยให้แต่ละประเทศบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ Net Zero Emissions (NZE) อันสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีไบโอชาร์จัดเป็นมาตรการสำคัญเพิ่มเติม ตามแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำหนดไว้ใน Nationally Determined Contribution (NDC) ที่ไทยกำหนดภายใต้กรอบข้อตกลงปารีส

ไบโอชาร์ไม่เพียงช่วยการกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) ลงในดินนานนับร้อยปีเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นสารปรับปรุงดิน (soil amendment) โดยไบโอชาร์ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มการถ่ายเทอากาศ ช่วยการอุ้มน้ำของดิน ส่งเสริมจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน เพิ่มความสามารถในการกักเก็บสารอาหาร และยังประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อพืช และเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ต่อเกษตรกรรมในระยะยาว

นอกจากภาคการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภาคเกษตรกรรมที่นำไบโอชาร์ไปใช้ประโยชน์เพื่อการกักเก็บคาร์บอนและการปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังมีการใช้ประโยชน์โบโอชาร์ในด้านอื่นๆ อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างเนื่องจากไบโอชาร์เป็นฉนวนความร้อนที่ดี จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร ตลอดจนสามารถนำไปผสมกับคอนกรีต เพื่อปรับปรุงความแข็งแรงและความทนทานของคอนกรีตได้อีกด้วย

ไบโอชาร์ยังมีการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การบำบัดน้ำเสีย การกรองอากาศ หรือการใช้เป็นวัสดุดูดซับในอุตสาหกรรมต่างๆ

ด้วยคุณประโยชน์มากมาย ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวและใช้ประโยชน์จากไบโอชาร์กันอย่างแพร่หลาย โดยมีมูลค่าการตลาดรวมกันทั้งโลกราวพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ที่สำคัญคือยังคงมีอัตราการเติบโตสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่อง ตลาดสำคัญของไบโอชาร์อยู่ที่ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเองก็มีสัดส่วนขนาดทางการตลาดที่ใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน

เอ็มเทคและหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ มุ่งมั่นร่วมมือดำเนินการวิจัยและพัฒนา และผลักดันการใช้ประโยชน์ไบโอชาร์ในประเทศไทย ครอบคลุมการภาคการเกษตร การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต ตลอดจนเร่งจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ใช้ไบโอชาร์ที่มีคุณภาพอย่างปลอดภัย

ติดต่อสอบถามข้อมูล:
ทีมวิจัยวัสดุและระบบเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
ดร.เปรมฤดี กาญจนปิยะ
โทรศัพท์: 0 2564 6500 ต่อ 4452
อีเมล: premrudk@mtec.or.th

The post ไบโอชาร์ ถ่านที่ไม่ธรรมดา appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>
‘วัสดุกำบังรังสีจากวัสดุพลอยได้อุตสาหกรรม’ เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน https://www.mtec.or.th/shielding/ Wed, 21 May 2025 03:51:25 +0000 https://www.mtec.or.th/?p=37708 แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายภาคส่วนสนใจการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น แนวทางหนึ่งคือการนำวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อลดปริมาณของเสียและใช้ทรัพยากรใหม่เท่าที่จำเป็น

The post ‘วัสดุกำบังรังสีจากวัสดุพลอยได้อุตสาหกรรม’ เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

‘วัสดุกำบังรังสีจากวัสดุพลอยได้อุตสาหกรรม’ เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

เรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายภาคส่วนสนใจการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น แนวทางหนึ่งคือการนำวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อลดปริมาณของเสียและใช้ทรัพยากรใหม่เท่าที่จำเป็น

เถ้าลอยเป็นวัสดุพลอยได้จากโรงไฟฟ้า มีองค์ประกอบหลักคือ ซิลิคอนไดออกไซด์ (SiO2) และอะลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3) เถ้าลอยสามารถเกิดปฏิกิริยาโพลิเมอไรเซชันเมื่ออยู่ในสารละลายด่าง เช่น สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานี้เรียกว่า จีโอโพลิเมอร์ (geopolymer) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายปูนซีเมนต์ แข็งตัวและขึ้นรูปได้ที่อุณหภูมิห้องจึงใช้พลังงานในการผลิตต่ำ มีราคาถูก สามารถใช้ในงานก่อสร้างได้ และนำมาสร้างบรรจุภัณฑ์สำหรับจัดเก็บรักษากากกัมมันตรังสีแทนปูนซีเมนต์หรือคอนกรีตที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้

ทีมวิจัยอีโคและฟังก์ชันนอลเซรามิกส์ กลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการกากกัมมันตรังสี ศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้พัฒนาวัสดุจีโอโพลิเมอร์จากวัสดุพลอยได้ของโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมรีดร้อนเหล็ก เพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับจัดเก็บรักษากากกัมมันตรังสีและกำบังรังสีเอกซ์และรังสีแกมมา ผลงานนี้ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และห้างหุ้นส่วนจำกัด อภิรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง

ทีมวิจัยใช้เถ้าลอยเป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุจีโอโพลิเมอร์ และใช้ผงเหล็ก (mill scale) หรือเหล็กออกไซด์ที่เป็นวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมรีดร้อนเหล็กเป็นสารดูดกลืนรังสี จากนั้นได้พัฒนาสูตรที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงสมบัติทางกายภาพ ทางกล อัตราการไหลตัว เวลาในการแข็งตัว และประสิทธิภาพในการกำบังรังสีเอกซ์และรังสีแกมมา อีกทั้งใช้เครื่องมือและขั้นตอนแบบปกติที่ใช้เตรียมซีเมนต์และคอนกรีตในโรงงาน

ต้นแบบวัสดุกำบังรังสีมีสองรูปแบบคือ 1) แบบก้อนขนาดเท่ากับอิฐมวลเบา (20x60x7.5 เซนติเมตร3) สามารถใช้แทนอิฐทั่วไปก่อเป็นผนังอาคารเพื่อป้องกันรังสี หรือวัสดุกำบังรังสีเฉพาะจุด 2) บรรจุภัณฑ์สำหรับใช้เก็บรักษากากกัมมันตรังสีขนาด 200 ลิตร ที่มีความหนา 5 เซนติเมตร และ 10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันรังสีที่มีระดับอัตราปริมาณรังสีและปริมาตรในการจัดเก็บรักษากากกัมมันตรังสีที่แตกต่างกัน

ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการกำบังรังสีบ่งชี้ว่า ต้นแบบจีโอโพลิเมอร์กำบังรังสีแบบก้อนมีประสิทธิภาพกำบังรังสีแกมมาดีกว่าคอนกรีตกำบังรังสี ส่วนต้นแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับใช้เก็บรักษากากกัมมันตรังสีมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับถังเก็บกากกัมมันตรังสีจากคอนกรีตที่ใช้อยู่เดิม และจากการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นต์พบว่า กระบวนการผลิตต้นแบบจีโอโพลิเมอร์กำบังรังสีปลดปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่ต่ำกว่ากระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในปัจจุบัน

ผลงานนี้นอกจากจะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสีย ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูล:
ทีมวิจัยอีโคและฟังก์ชันนอลเซรามิกส์ กลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
ดร.สมัญญา สงวนพรรค
โทรศัพท์: 0 2564 6500 ต่อ 4044
อีเมล: samunys@mtec.or.th

The post ‘วัสดุกำบังรังสีจากวัสดุพลอยได้อุตสาหกรรม’ เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>
บริการทดสอบการทำงานเชิงหน้าที่ของเซลล์ เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ https://www.mtec.or.th/post-knowledges-68726/ Tue, 01 Apr 2025 03:48:42 +0000 https://www.mtec.or.th/?p=36073 การวิเคราะห์ทดสอบเหล่านี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น วัสดุชีวภาพ วัสดุการแพทย์ สารสกัดจากพืชและสัตว์ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์

The post บริการทดสอบการทำงานเชิงหน้าที่ของเซลล์ เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

บริการทดสอบการทำงานเชิงหน้าที่ของเซลล์ เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ทีมวิจัยวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue engineering team) ภายใต้กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. มีพันธกิจในการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อกระดูกและกระดูกอ่อน โดยทีมวิจัยมีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงเซลล์ชนิดต่างๆ ทั้งเซลล์มนุษย์และเซลล์สัตว์ รวมทั้งมีเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถให้บริการวิเคราะห์ทดสอบการทำงานเชิงหน้าที่ของเซลล์ในหลายรูปแบบ

ตัวอย่างการวิเคราะห์ทดสอบ เช่น การเพาะเลี้ยงเซลล์แบบ 2 มิติบนจานอาหารหรือบนวัสดุทางการแพทย์ การเพาะเลี้ยงเซลล์แบบ 3 มิติร่วมกับวัสดุโครงร่างรองรับเซลล์ และการเพาะเลี้ยงเซลล์แบบก้อนกลมสามมิติเพื่อจำลองการเจริญเติบโตและทำหน้าที่ของเซลล์จากอวัยวะต่างๆ

การวิเคราะห์ทดสอบเหล่านี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น วัสดุชีวภาพ วัสดุการแพทย์ สารสกัดจากพืชและสัตว์ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ครอบคลุมอุตสาหกรรมยาและสารเสริมอาหาร

บริการวิเคราะห์ทดสอบด้านเซลล์ มีดังนี้

  • การทดสอบความเป็นพิษ เพื่อประเมินความเป็นพิษ ของผลิตภัณฑ์ต่อเซลล์มนุษย์และเซลล์สัตว์ เช่น เซลล์ไฟโบรบลาสต์ เซลล์กระดูก เซลล์กระดูกอ่อน เซลล์ผิวหนัง เซลล์มะเร็ง
  • การทดสอบการทำงานของเซลล์กระดูกอ่อนข้อเข่า เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของสารตัวอย่างต่อการกระตุ้นการทำงานของเซลล์กระดูกอ่อนข้อเข่าให้มีการสร้างและสะสมสารประกอบนอกเซลล์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน
  • การทดสอบการทำงานของเซลล์กระดูก เพื่อทดสอบความสามารถของสารตัวอย่างในการกระตุ้นให้เซลล์กระดูกมีการเจริญเติบโต มีการสะสมแร่ธาตุ และสร้างโปรตีนที่จำเพาะต่อการสร้างกระดูก
  • การทดสอบฤทธิ์สมานแผล เพื่อทดสอบฤทธิ์ของสารตัวอย่างที่สามารถกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมตัวเองของเซลล์ผิวหนังภายหลังการบาดเจ็บ
  • การทดสอบด้วยเซลล์ต้นกำเนิดมนุษย์ เพื่อทดสอบฤทธิ์ของสารตัวอย่างที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดไปเป็นเซลล์จำเพาะ เช่น เซลล์กระดูก เซลล์กระดูกอ่อน
  • การทดสอบสมบัติทางชีวภาพ เพื่อประเมินความเข้ากันได้ทางชีวภาพของผลิตภัณฑ์กับเซลล์ชนิดต่างๆ
  • การให้คำปรึกษา เพื่อวางแผนงานและกำหนดแนวทางร่วมกับนักวิจัยและผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยและมีสมบัติทางชีวภาพตรงตามความต้องการ

ผู้ที่สนใจทดสอบผลิตภัณฑ์ต่อการเจริญเติบโตและการทำหน้าที่ของเซลล์สามารถขอรับบริการได้ทั้งแบบร่วมวิจัยและจ้างวิจัย

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม
โทรศัพท์: 02 564 6500 ต่อ 4782-4789 (ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ)
ต่อ 74623 (ดร.พชรพรรณ สนธิไทย) และต่อ 4431, 4456 (ดร.ปวีณา อุปนันต์
)
Email : BDD-IBL@mtec.or.th

The post บริการทดสอบการทำงานเชิงหน้าที่ของเซลล์ เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>
ซิลิโคนโพลิเมอร์กับการประยุกต์ใช้งานด้านพื้นผิววัสดุ https://www.mtec.or.th/post-knowledges-83429/ Thu, 22 Feb 2024 07:33:42 +0000 http://10.228.23.44:38014/?p=3522 ซิลิโคนโพลิเมอร์จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มสารประกอบโพลิเมอร์ที่ได้รับความนิยมกว้างขวาง ไม่ว่าจะใช้เคลือบผิวในรูปของสี (paints) ผสมเป็นหมึก (inks) ทำเป็นสารชุบแข็ง (hardeners) ขึ้นรูปเป็นเนื้อฟิล์ม (films) หรือแผ่นโพลิเมอร์ (sheets)

The post ซิลิโคนโพลิเมอร์กับการประยุกต์ใช้งานด้านพื้นผิววัสดุ appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

ซิลิโคนโพลิเมอร์กับการประยุกต์ใช้งานด้านพื้นผิววัสดุ

เราสามารถเลือกสารประกอบโพลิเมอร์มาผสมรวมกันในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อใช้งานเกี่ยวกับผิวของวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นการเคลือบผิว การเขียนหรือพิมพ์ลงบนผิว การสร้างผิวฟิล์มหรือวัสดุที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางโปร่งใสหรือโปร่งแสง ซิลิโคนโพลิเมอร์จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มสารประกอบโพลิเมอร์ที่ได้รับความนิยมกว้างขวาง ไม่ว่าจะใช้เคลือบผิวในรูปของสี (paints) ผสมเป็นหมึก (inks) ทำเป็นสารชุบแข็ง (hardeners) ขึ้นรูปเป็นเนื้อฟิล์ม (films) หรือแผ่นโพลิเมอร์ (sheets)

สารประกอบกลุ่มซิลิโคนโพลิเมอร์เกิดจากพันธะระหว่างอะตอมของซิลิคอนและอะตอมธาตุอื่น Si-O-Si แบบครอสลิงค์ (cross-link) โดยมี Si เป็นแกนกลาง ส่วนแขนที่เหลือในโครงสร้างจับกับอะตอมของธาตุอื่น หรือกลุ่มสารประกอบคาร์บอน (R, R’) ไม่ว่าจะเป็น H, CH3, CH, CH=CH2 หมู่อัลคิล (alkyl) หรือเอริล (aril) เป็นต้น

สมบัติเด่นที่ทำให้กลุ่มซิลิโคนโพลิเมอร์ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการใช้งานเกี่ยวกับผิววัสดุ ได้แก่

  • สามารถผสมให้อยู่ในรูปแบบการใช้งานต่างๆ เพื่อใช้ในงานด้านผิววัสดุ เช่น สี หมึก ฟิล์ม และสารชุบแข็ง
  • มีความเป็นพิษต่ำ และมีสารประกอบไอระเหยอินทรีย์ (Volatile Organic Compounds, VOCs) น้อย และอยู่ในระดับที่เป็นไปตามการกำหนดในมาตรฐานความปลอดภัย
  • มีความทนทานต่อแสงยูวี (UV resistance) และทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
  • กันน้ำ/สะท้อนน้ำเนื่องจากสมบัติไฮโดรโฟบิก (hydrophobic) มีมุมสัมผัส (contact angle) มากกว่า 90 องศา จึงทำให้หยดน้ำกลิ้งตัวไปไม่เกาะพื้นผิว และยังทำให้สามารถกันการซึมผ่านของน้ำระหว่างบริเวณผิววัสดุฐาน และผิวเคลือบได้เป็นอย่างดี
  • เสริมความความแข็งแรงทนทานการขูดขีด เสียดสีและการกัดกร่อนจากสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง (harsh environment) ได้หลายสภาวะ เช่น ในทะเล กลางแจ้งแดดจัด บริเวณอากาศหนาวจัดเลยจุดเยือกแข็ง เป็นต้น
  • ให้ผิวเคลือบที่มีความเงางาม โปร่งใส ผิวเรียบลื่น ทำความสะอาดง่าย หยดน้ำหรือของเหลวไม่เกาะติด กลิ้งตัวไหลออกไปเหมือนหยดน้ำบนใบบัว จึงทำให้ผิวมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

โครงสร้างเคมีพื้นฐานของสารประกอบซิลิโคนโพลิเมอร์ [-Si-O- หรือ (-Si-NH-)n หรือ Si-CHn-) ที่จับกับอะตอมของธาตุอื่นและนิยมใช้ในงานเกี่ยวกับพื้นผิววัสดุ ได้แก่ โพลีไดเมธิลไซล็อกเซน (polydimethylsiloxane หรือ PDMS) โพลีออกาโนไซลอกเซน หรือโพลีไซลอกเซน (polyorganosiloxane/polysiloxane) โพลีไซลาเซน (polysilazanes) โพลีคาร์โบไซลาเซน (polycarbossilazanes) และโพลีไซลิลคาร์โบดีไมด์ (polycarbodiimides)

ตัวอย่างของสารประกอบซิลิโคนโพลิเมอร์ชนิดต่างๆ ที่นิยมใช้ในงานทั่วไปเกี่ยวกับพื้นผิวดังนี้

  • ไซเลน (Silanes) เป็นสารเพิ่มการยึดเกาะผิวของสีและกาว โดยมีสมบัติไฮโดรโฟบิกที่ดี ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การกัดกร่อนของสารเคมีและการขูดขีดของพื้นผิว นิยมใช้เป็นตัวรองพื้น (primer) สีรถยนต์และอาคารบ้านเรือน และมีหน้าที่เป็นตัวประสานเนื้อสีเคลือบผิว
  • โพลีไดเมธิลไซลอกเซน (Polydimethyl siloxane, PDMS) มีอีลาสโตเมอร์เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน (elastomer-based) ในวัสดุกลุ่มนี้ที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ มีสมบัติความเป็นไฮโดรโฟบิกเช่นเดียวกัน มีความสามารถในการลดแรงตึงผิว (wetting agents) ทนทานการขูดขีด อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดการลื่นไถล ตัวที่มีมวลโมเลกุลสูงสามารถใช้เป็นตัวผนึก (sealants) และกันน้ำสำหรับเคลือบบนเส้นใยผ้า หรือทำเป็นชั้นฟิล์มปกป้องผิวสีรถยนต์และสีกันเพรียงในเรือเดินสมุทร
  • โพลีออร์การโนไซล็อกเซน (Polysiloxane) มีสมบัติใกล้เคียงกับกลุ่ม PDMS แต่มีดีกรีความเป็นโพลิเมอร์อินทรีย์มากกว่า สารประกอบกลุ่มนี้สามารถเพิ่มปริมาณสัดส่วนที่เป็นของแข็ง (solid content) ได้มากขึ้น ทำให้ลดสัดส่วนของปริมาณสารไอระเหยอินทรีย์ (VOC) ได้ นอกจากนี้ยังมีสมบัติเป็นตัวลดฟอง (anti-foaming) และทนการกัดกร่อนจากสารละลายได้ดี นิยมนำมาผสมเพื่อฉีดขึ้นรูปเป็นแผ่นพลาสติก ตัวอย่างวัสดุที่มีสารประกอบกลุ่มนี้เป็นส่วนผสมและรู้จักกันดีก็คือแผ่นพลาสติกใสโพลีคาร์บอเนต นอกจากนี้ยังนำมาทำเป็นเลนส์และบานหน้าต่างได้ด้วย
  • ซิลิโคนโพลีอีเธอร์ (Silicone polyethers) เป็นสารประกอบกลุ่มลดแรงตึงผิว (surfactants) ประสิทธิภาพดี มีความเป็นพิษต่ำ เมื่อควบคุมสัดส่วนการผสมขององค์ประกอบและความหนืด (viscosity) ให้พอเหมาะ จะช่วยรักษาความตึงผิวของเหลวได้สม่ำเสมอ ให้พื้นผิวมีความเรียบ (levelling) และยังปกปิดร่องรอยตำหนิต่างๆ ได้ จึงนิยมใช้ในงานอุตสาหกรรมด้านตกแต่ง เครื่องสำอาง การเคลือบผิวเส้นใยผ้าและกระดาษให้เรียบเนียนสัมผัสนุ่มสบายมือ และยังใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาปราบศัตรูพืช
  • ซิลิโคนเรซิน (Silicone resins) จัดเป็นสารประกอบโพลิเมอร์กลุ่มที่มีมวลโมเลกุลต่ำ จึงสามารถนำมาทำได้ทั้งวัสดุเทอร์โมพลาสติกแบบนุ่ม ยืดหยุ่น หรือ ฟิล์มพลาสติกเทอร์โมเซ็ตแบบแข็ง นิยมใช้งานด้านวัสดุที่มีสมบัติน้ำไม่เกาะผิว ทนความร้อนและสารเคมี มีความเป็นฉนวน อาทิเช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน และอุปกรณ์ทำอาหาร นอกจากนี้ยังใช้เคลือบกันความชื้นและเป็นฉนวนอาคารและวัสดุก่อสร้าง
  • ซิลิโคนอิลาสโตเมอร์ (Silicone elastomers) หรือรู้จักในชื่อเรียกว่า “ยางซิลิโคน” (silicone rubbers) สารประกอบกลุ่มนี้ให้สมบัติความทนทานต่ออุณหภูมิและแสงยูวีสูง กันความชื้นได้ดี เหมาะกับการใช้งานเคลือบผิวนอกอาคาร เช่นวัสดุมุงหลังคาและผนัง นอกจากนี้ยังมีความเป็นฉนวนสูง ทนทานการกัดกร่อน มีความเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม สามารถเตรียมให้อยู่ในลักษณะหลายรูปแบบ จึงนิยมนำไปใช้งานในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง พลังงาน สุขภาพ การขนส่ง เครื่องอุปโภคบริโภค การเกษตรและสิ่งทอ งานสายส่งไฟฟ้า (powerline insulator)
  • ซิลิโคนโพลีไซลาเซน (Silicone polysilazanes มีโครงสร้างหลักเป็น Si-N และ Si-O แขนที่เหลือสามารถต่อกับหมู่ฟังก์ชัน R1 R2 และอื่นๆ ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้น คุณสมบัติของซิลิโคนโพลิเมอร์กลุ่มนี้ ในด้านความทนทาน ไม่ว่าจะเป็นความต้านทานต่อการขูดขีด (scratch resistance) อุณหภูมิ รังสียูวีหรือแม้แต่การกัดกร่อนจากสภาวะแวดล้อมถือว่าดีมาก จึงนิยมใช้ผสมทำสารเคลือบผิวกลุ่มสีเคลือบเพื่อใช้ในงานที่ต้องการความทนทานสูง เช่น สีทาพื้นผิวตามภายนอกอาคารบ้านเรือน รางรถไฟ ระบบท่อ เป็นต้น เพราะนอกจากจะทนทานต่อสภาวะแวดล้อมแล้ว ยังสามารถทำความสะอาดผิวได้ง่าย ทำให้มีอายุการใช้งานยาวนาน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

The post ซิลิโคนโพลิเมอร์กับการประยุกต์ใช้งานด้านพื้นผิววัสดุ appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>
เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock) https://www.mtec.or.th/post-knowledges-58356/ Mon, 27 Sep 2021 07:54:48 +0000 http://10.228.23.44:38014/?p=3921 อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างมักมีความต้องการใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง เพื่อตอบโจทย์การใช้งานด้านต่างๆ รวมทั้งการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ประเภทคอนกรีต เนื่องจากวัสดุมวลรวมตามธรรมชาติ เช่น ทรายหรือหินบด

The post เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock) appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock)

นักวิจัย: ดร. พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล
เรียบเรียงโดย: อิชย์ชญาน์ สินเจริญเลิศ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างมักมีความต้องการใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง เพื่อตอบโจทย์การใช้งานด้านต่างๆ รวมทั้งการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ประเภทคอนกรีต เนื่องจากวัสดุมวลรวมตามธรรมชาติ เช่น ทรายหรือหินบด ซึ่งเป็นส่วนผสมหลัก ถึงแม้จะช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของคอนกรีตได้เป็นอย่างดี แต่จะมีน้ำหนักต่อปริมาตรหรือความถ่วงจำเพาะที่สูงมาก (2,300 ถึง 2,600 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ทำให้เกิดข้อจำกัดในการนำผลิตภัณฑ์คอนกรีตไปใช้งานบางประเภทที่ต้องการน้ำหนักเบา

เม็ดมวลเบาสังเคราะห์คืออะไร ?

เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock) หรือหินเบา เป็นเม็ดวัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีความเป็นฉนวนความร้อน (หรือความเย็น) สูง แต่ยังคงความแข็งแรงใกล้เคียงหินจากธรรมชาติ สามารถใช้ในผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง เช่น ผนังและพื้นคอนกรีตมวลเบา เพื่อทำให้มีความเป็นฉนวนความร้อน (หรือความเย็น) มากขึ้นและมีน้ำหนักลดลง แต่ยังคงมีความแข็งแรงเทียบเท่าคอนกรีตทั่วไป

ทีมวิจัยพัฒนาเม็ดมวลเบาสังเคราะห์อย่างไร ?

• พัฒนาเม็ดมวลเบาสังเคราะห์จากของเสียหรือวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรม โดยใช้ความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมเซรามิกและเทคโนโลยีวัสดุก่อสร้าง
• พัฒนากระบวนการผลิตต้นแบบเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ในระดับอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการใช้วัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นวัตถุดิบหลัก
• ต้นแบบเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ มีลักษณะเป็นเม็ดทรงกลมที่มีโพรงอากาศจำนวนมากภายในโครงสร้าง มีน้ำหนักเบา มีความเป็นฉนวนอากาศที่ดี มีค่าความถ่วงจำเพาะอนุภาค 1.024 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร มีค่าการดูดซึมน้ำร้อยละ 25 และค่ากำลังรับแรงกดอัด 6.41 เมกกะปาสคาล

ประโยชน์ของเม็ดมวลเบาสังเคราะห์มีอะไรบ้าง ?

ช่วยให้โครงสร้างบ้านทั้งหลังมีน้ำหนักเบา
การนำผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ไปใช้เป็นชิ้นส่วนของอาคาร สามารถลดน้ำหนักโครงสร้างของอาคารโดยรวม เพิ่มคุณสมบัติในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับผลิตภัณฑ์คอนกรีตมากกว่าคอนกรีตทั่วไป และเพิ่มค่าความปลอดภัย (safety factor) ให้แก่อาคาร ทำให้อาคารสามารถทนต่อแรงกระทำได้ดี ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างและอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย

ช่วยลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้าสู่อาคาร
คอนกรีตที่ใช้เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ทดแทนมวลรวมจากธรรมชาติ มีค่าการนำความร้อน 0.726 วัตต์ต่อเคลวิน-เมตร ลดลงจากค่าการนำความร้อนของคอนกรีตทั่วไป (1.359 วัตต์ต่อเคลวิน-เมตร) ประมาณร้อยละ 46 เม็ดมวลเบาสังเคราะห์จึงเหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นผนังอาคารเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้าสู่อาคาร ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศได้เป็นอย่างดี

ช่วยเพิ่มมูลค่าของเสียหรือวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรม
การผลิตเม็ดมวลเบาสังเคราะห์จากของเสียหรือวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของเสียหรือวัสดุพลอยได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆแล้ว ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

สถานภาพงานวิจัยเป็นอย่างไรบ้าง?

• ยื่นจดสิทธิบัตรงานวิจัยเรียบร้อยแล้ว
• ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ บริษัท จรัลธุรกิจ 52 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) โดยมีการผลิตในเชิงพาณิชย์แล้วภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “Green-rock”

แผนงานวิจัยในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง?

พัฒนาต่อยอดงานวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาวัสดุก่อสร้างเพื่อรองรับการเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม และดินสไลด์

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล
หัวหน้าทีมวิจัยวิศวกรรมเซรามิก กลุ่มวิจัยเซรามิกและวัสดุก่อสร้าง
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
โทรศัพท์ 02 564 6500 ต่อ 4242
Email : pitakl@mtec.or.th

The post เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock) appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>
เซโนสเฟียร์จากเถ้าลอย https://www.mtec.or.th/post-knowledges-56579/ Mon, 23 Aug 2021 08:03:42 +0000 http://10.228.23.44:38014/?p=11446 เถ้าลอย (fly ash) เป็นเถ้าถ่านหินชนิดหนึ่งซึ่งเป็นวัตถุพลอยได้ (by-product) ที่เกิดจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้(combustion process)...

The post เซโนสเฟียร์จากเถ้าลอย appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

เซโนสเฟียร์จากเถ้าลอย

นักวิจัย: ดร. ศรชล โยริยะ
เรียบเรียงโดย: อิชย์ชญาน์ สินเจริญเลิศ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

เถ้าลอยคืออะไร ?

เถ้าลอย (fly ash) เป็นเถ้าถ่านหินชนิดหนึ่งซึ่งเป็นวัตถุพลอยได้ (by-product) ที่เกิดจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้(combustion process) โดยในกระบวนการนี้พบเถ้าลอยในปริมาณที่สูงถึงร้อยละ 90โดยน้ำหนักของปริมาณเถ้าถ่านหินทั้งหมดเนื่องจากองค์ประกอบหลักทางเคมีของเถ้าลอยคือซิลิกอนไดออกไซด์(SiO2) อะลูมินัมออกไซด์(Al2O3) และเฟอร์ริกออกไซด์(Fe2O3)จึงนิยมนำกลับมาใช้ใหม่โดยใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตปูนซีเมนต์หรือวัสดุก่อสร้าง

เซโนสเฟียร์คืออะไร ?

เซโนสเฟียร์ (cenosphere) เป็นองค์ประกอบที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงที่พบอยู่ในเถ้าลอย เป็นวัตถุอนินทรีย์ซึ่งมีลักษณะเป็นอนุภาคกลมกลวง น้ำหนักเบาความหนาแน่นต่ำ (น้อยกว่า 1 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร) โดยทั่วไปมักพบเซโนสเฟียร์อยู่ในเถ้าลอยเพียงแค่ 0.1–2% โดยน้ำหนัก

เซโนสเฟียร์มีองค์ประกอบส่วนใหญ่ได้แก่ ซิลิกา อะลูมินา และเหล็กออกไซด์ สมบัติเด่นของวัสดุนี้คือเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีทนต่อสารเคมีและแรงอัดที่สูงดูดซึมน้ำน้อย และไหลร่วนตัวได้ดีจึงมีการนำไปใช้งานอย่างหลากหลายในภาคอุตสาหกรรม

ทีมวิจัยคัดแยกเซโนสเฟียร์ออกจากเถ้าลอยอย่างไร ?

การคัดแยกเซโนสเฟียร์ออกจากเถ้าลอยถือเป็นการนำเอาวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เถ้าลอยหรือวัสดุพลอยได้จากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า การคัดแยกเซโนสเฟียร์ออกจากเถ้าลอย แบ่งออกเป็น 2 กระบวนการได้แก่

1.กระบวนการคัดแยกแบบเปียก(Wet Separation Process)

หลักการคัดแยกแบบเปียกอาศัยความแตกต่างของความหนาแน่นระหว่างอนุภาคและตัวกลาง ทำให้คัดแยกได้ง่ายโดยใช้วิธีจม-ลอย และใช้น้ำเป็นตัวกลางในการคัดแยก เซโนสเฟียร์ที่คัดแยกด้วยวิธีนี้เป็นอนุภาคที่มีมวลเบามีความหนาแน่นต่ำกว่า 1 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตรเรียกว่าเซโนสเฟียร์ชนิดความหนาแน่นต่ำ

2.กระบวนการคัดแยกแบบแห้ง(Dry Separation Process)

หลักการคัดแยกแบบแห้งอาศัยความแตกต่างของขนาดและความหนาแน่นของอนุภาค โดยใช้ชุดอุปกรณ์การคัดแยกเถ้าลอยแบบแห้งด้วยระบบลมเหวี่ยงกระบวนการคัดแยกแบบแห้งนี้มีประโยชน์ในระยะยาว เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุที่คัดแยกได้ด้วยวิธีนี้เรียกว่าเซโนสเฟียร์ชนิดความหนาแน่นสูง มีความหนาแน่นระหว่าง 2-2.5 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร

เซโนสเฟียร์จากเถ้าลอยนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง?

Applications of Cenospheres

เซโนสเฟียร์มีสมบัติเด่นหลายด้านเช่น น้ำหนักเบา เป็นวัสดุกลมและกลวง ทนการกัดกร่อนต่อสารเคมี การนำความร้อนต่ำ มีคุณสมบัติเชิงกลด้านการรับแรงกดอัด จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์, คอมโพสิทเช่น เพื่อให้น้ำหนักเบาหรือเพิ่มความแข็งแรง, คอมโพสิทเกี่ยวกับอุปกรณ์หรือพาหนะทางน้ำ, อิฐทนไฟ, วัสดุกันเสียง, วัสดุก่อสร้าง,ส่วนผสมในปูนอุดรอยรั่ว,วัสดุกันความร้อน,วัสดุกันการลามไฟ, ส่วนผสมในซีเมนต์ อุตสาหกรรมขุดเจาะปิโตรเลียม

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ดร. ศรชล โยริยะ
กลุ่มวิจัยเซรามิกและวัสดุก่อสร้าง
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
โทร.+66 2 564 6500 ต่อ 4224
E-mail: sorachy@mtec.or.th

The post เซโนสเฟียร์จากเถ้าลอย appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>
คิทเพาะ : อุปกรณ์เพาะธัญพืชงอก https://www.mtec.or.th/post-knowledges-56579-2/ Mon, 23 Aug 2021 08:03:16 +0000 http://10.228.23.44:38014/?p=11470 จีโอโพลิเมอร์(Geopolymer) คือสารอนินทรีย์ที่มีโครงสร้างหลักเป็นสารประกอบของซิลิคอนไดออกไซด์(SiO2)และอะลูมิเนียมออกไซด์(Al2O3)จึงมีสมบัติเช่นเดียวกับเซรามิกทั่วไป...

The post คิทเพาะ : อุปกรณ์เพาะธัญพืชงอก appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

คิทเพาะ : อุปกรณ์เพาะธัญพืชงอก

ทีมวิจัย: Ecocera
เรียบเรียงโดย: อิชย์ชญาน์ สินเจริญเลิศ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

คิทเพาะคืออะไร

คิทเพาะเป็นอุปกรณ์อย่างง่ายที่อำนวยความสะดวกในการเพาะเมล็ดงอกหรือต้นอ่อนของธัญพืชในพื้นที่จำกัด ใช้เวลาดูแลน้อย ช่วยให้คนที่ไม่ค่อยมีเวลาสามารถเตรียมเมล็ดงอกหรือต้นอ่อนไว้บริโภคภายในครัวเรือนได้เองในระยะเวลาสั้นๆเมื่อเทียบกับการปลูกผักทั่วไป

ทำไมเมล็ดงอกหรือต้นอ่อนของธัญพืชจึงเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มคนรักสุขภาพ ?

เมล็ดงอกหรือต้นอ่อนของธัญพืชมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับผักทั่วไป สารอาหารในต้นอ่อนเป็นสารประกอบที่ไม่ซับซ้อน ย่อยง่าย และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน กรดไขมัน คาร์โบไฮเดรท และไฟโตเคมิคอลต่างๆ

ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด ?

ปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด ได้แก่ ความชื้นหรือน้ำที่จะเป็นตัวกระตุ้นปฎิกิริยาและเมตาบอลิซึมในการงอก อุณหภูมิ ออกซิเจนสำหรับการหายใจเพื่อย่อยสลายอาหารให้ได้พลังงานที่จำเป็นสำหรับการงอก ทั้งนี้การงอกของเมล็ดส่วนใหญ่มักอยู่ในที่ไม่มีแสง

คิทเพาะ มีข้อดีอย่างไร ?

คิทเพาะใช้งานง่าย ทำความสะอาดได้สะดวกเหมือนภาชนะเครื่องใช้ในครัวทั่วไป ใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง ไม่มีเชื้อราสะสม การเพาะด้วยคิทเพาะนี้ช่วยลดขั้นตอนการเพาะจากวิธีการเพาะทั่วไป ไม่ต้องแช่เมล็ดให้อิ่มน้ำก่อนเพาะ ไม่ต้องใช้พลังงานหรืออุปกรณ์จ่ายน้ำที่มีกลไกซับซ้อนเหมือนชุดเพาะอัตโนมัติ ใช้น้ำน้อยในปริมาณที่จำเป็นต่อการงอกเท่านั้น และไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ช่วยให้สามารถเตรียมเมล็ดงอกหรือต้นอ่อนไว้บริโภคภายในครัวเรือนได้เอง

คิทเพาะ มีส่วนประกอบอย่างไร ?

คิทเพาะประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่

1. ถาดเพาะ รูปทรงไม่จำกัด โดยมีผนังรอบทิศสูงประมาณ 1-15 ซม. ก้นเป็นตะแกรงโปร่งมีขาสูง 1 ซม.รองรับก้นตะแกรงให้ลอยเหนือก้นถาดรองน้ำ รูมีขนาดระหว่าง 0.4-5.0 มม. โดยขนาดของรูจะต้องไม่เล็กกว่าขนาดของเมล็ดแห้ง ก้นตะแกรงทำหน้าที่ส่งผ่านน้ำให้กับเมล็ดและเป็นที่ยึดของรากที่งอกออกมา

2. ถาดรองน้ำ ถาดรองน้ำมีขนาดกว้างกว่าก้นของถาดเพาะประมาณ1 ซม.เพื่อกันมดหรือแมลงไม่ให้มาที่ถาดเพาะ ถาดรองน้ำอาจขยายเพิ่มพื้นที่ เพื่อวางแท้งค์สำรองน้ำสำหรับเมล็ดที่ต้องการน้ำมาก เพื่อให้สามารถให้น้ำได้อย่างต่อเนื่อง

3. แท้งค์สำรองน้ำ สำหรับต้นงอกที่ต้องการน้ำมาก ด้านล่างมีช่องเปิดหรือรูสำหรับปล่อยน้ำ ช่องเปิดมีความกว้าง 6-11 มม. สูงไม่เกิน 15มม. ขอบบนของช่องเปิดอยู่สูงจากผิวน้ำในถาดน้ำประมาณ 5 มม. แท้งค์มีความสูงไม่เกิน 20 ซม. ขนาดช่องเปิดและความสูงของแท้งค์ดังกล่าวเป็นขนาดที่ช่วยรักษาระดับน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงเกิน 1.5 มม.

4. ฝาครอบกันแมลงและควบคุมความชื้น มีลักษณะโปร่ง เป็นตาข่ายที่มีขนาดรูไม่เกิน 0.5 มม. เพื่อกันแมลงเล็กๆและช่วยให้อากาศถ่ายเท หรือเป็นฝาครอบทึบ ไม่ให้อากาศถ่ายเท เพื่อรักษาความชื้นภายในถาดเพาะ การเลือกใช้ขึ้นกับเมล็ดธัญพืชที่จะเพาะ หากเป็นเมล็ดที่ต้องการน้ำมากเช่น ถั่วเขียว ควรใช้ฝาทึบ หากเป็นเมล็ดอื่นๆเช่น ทานตะวัน ไควาเระ ควรใช้ฝาครอบตาข่ายหรือหากไม่มีแมลงรบกวนก็ไม่ต้องใช้ฝาครอบ

คิทเพาะ มีขั้นตอนการใช้งานอย่างไร ?

คิทเพาะมีขั้นตอนการใช้งาน ดังนี้

1. ล้างทำความสะอาดเมล็ด เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก (ปริมาณเมล็ดขึ้นกับขนาดของถาดเพาะ)
2. ใส่เมล็ดลงในถาดเพาะโดยไม่ต้องแช่เมล็ดก่อน
3. วางถาดเพาะลงบนถาดรองน้ำ โดยให้ก้นตะแกรงอยู่สูงกว่าก้นถาดรองน้ำประมาณ 1 ซม.
4. เติมน้ำลงในถาดรองน้ำ โดยให้ระดับน้ำอยู่ที่ผิวตะแกรงพอดี หากเมล็ดมีขนาดมากกว่า 2-3 มม. อาจเติมน้ำเลยขึ้นมาถึงครึ่งเมล็ด
5. เกลี่ยเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอบนตะแกรงเพาะ
6. หากเป็นชนิดของเมล็ดที่โตเร็ว จะใช้น้ำปริมาณมาก ควรวางแท้งค์ช่วยจ่ายน้ำและรักษาระดับน้ำ เพื่อความสะดวก ไม่ต้องมาคอยเติมน้ำ
7. ปิดฝาครอบ หรือตาข่ายครอบ
8. เก็บไว้ในที่ไม่มีแสง จนได้เมล็ดงอกหรือต้นอ่อนตามต้องการ หากต้องการให้ได้ต้นอ่อนมีใบเขียว สามารถนำออกมาให้ถูกแสง 1-2 วันสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ระยะเวลาในการรอให้ต้นงอกขึ้นกับชนิดของเมล็ดและอุณหภูมิระหว่างการเพาะ

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ทีมวิจัยวัสดุและระบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
E-mail: Ecocera@mtec.or.th

The post คิทเพาะ : อุปกรณ์เพาะธัญพืชงอก appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>
กระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหิน https://www.mtec.or.th/post-knowledges-54078/ Mon, 19 Jul 2021 06:34:27 +0000 http://10.228.23.44:38014/?p=11802 จีโอโพลิเมอร์(Geopolymer) คือสารอนินทรีย์ที่มีโครงสร้างหลักเป็นสารประกอบของซิลิคอนไดออกไซด์(SiO2)และอะลูมิเนียมออกไซด์(Al2O3)จึงมีสมบัติเช่นเดียวกับเซรามิกทั่วไป...

The post กระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหิน appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

กระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหิน

ดร.อนุชา วรรณก้อน
อิชย์ชญาน์ สินเจริญเลิศ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

จีโอโพลิเมอร์คืออะไร?

จีโอโพลิเมอร์ (Geopolymer) คือสารอนินทรีย์ที่มีโครงสร้างหลักเป็นสารประกอบของซิลิคอนไดออกไซด์ (SiO2) และอะลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3) จึงมีสมบัติเช่นเดียวกับเซรามิกทั่วไปแต่มีลักษณะโครงสร้างอสัณฐาน (amorphous) โครงสร้างนี้เกิดจากปฎิกิริยาโพลิเมอไรเซชันของสารประกอบอะลูมิโนซิลิเกต (aluminosilicate) ที่ไวต่อปฏิกิริยากับสารละลายด่าง เช่นสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นได้ที่อุณหภูมิห้อง สามารถใช้ดินขาวหรือดินแดงที่ปรับคุณสมบัติให้ไวต่อปฏิกิริยาแล้วเป็นวัตถุดิบ นับเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถลดการใช้พลังงานในการผลิต

ทีมวิจัยพัฒนากระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหินอย่างไร?

การพัฒนากระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหินใช้เทคโนโลยีการสังเคราะห์และการผลิตที่อุณหภูมิต่ำ และเทคโนโลยีจีโอโพลิเมอร์

กระบวนการผลิตกระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหินใช้ดินขาวเผาหรือเมตะเกาลิน (metakaolin) เป็นวัตถุดิบหลัก ใช้โซเดียมซิลิเกตและโซเดียมไฮดรอกไซด์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อให้เกิดโครงสร้างจีโอโพลิเมอร์ และใช้เศษแก้วหลากสีทำหน้าที่เปรียบเสมือนมวลรวม (aggregate) เพื่อให้มีลวดลายคล้ายลายหิน

ต้นแบบกระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหินมีค่าการดูดซึมน้ำ15-18% และค่าความต้านทานต่อแรงอัด 8-12 MPa

สมบัติเด่นของกระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหินมีอะไรบ้าง?

•  สามารถขึ้นรูปและผลิตได้ที่อุณหภูมิห้องโดยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องเผาที่อุณหภูมิสูงเหมือนเซรามิกทั่วไป จึงใช้พลังงานในการผลิตต่ำกว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
•  มีสมบัติคล้ายกระเบื้องเซรามิกทั่วไป สามารถใช้ทดแทนและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เช่นกระเบื้องสำหรับงานตกแต่งภายใน
•  การนำเศษแก้วหลากสีมาใช้เป็นส่วนผสมเพื่อให้มีลวดลายสวยงามคล้ายหิน ช่วยลดปัญหาการกำจัดเศษแก้ว และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ดร.อนุชา วรรณก้อน
นักวิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยเซรามิกและวัสดุก่อสร้าง
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
E-mail : anuchaw@mtec.or.th
โทร. 0 2564 6500 ต่อ 4045

The post กระเบื้องจีโอโพลิเมอร์ลายหิน appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>
เซรามิกพรุน https://www.mtec.or.th/post-knowledges-52223/ Tue, 22 Jun 2021 03:16:59 +0000 http://10.228.23.44:38014/?p=12530 เซรามิกพรุนเป็นเซรามิกที่โครงสร้างมีรูพรุนหรือช่องว่างภายในเนื้อหลังการเผา รูพรุนมีทั้งแบบเปิดและแบบปิด กรณีรูพรุนแบบเปิด อนุภาคของของเหลวหรือแก๊สที่มีขนาดเล็กกว่าสามารถแทรกซึมเข้าไปตามรูพรุนได้...

The post เซรามิกพรุน appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

เซรามิกพรุน

ดร.จรัสพร มงคลขจิต
อิชย์ชญาน์ สินเจริญเลิศ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

เซรามิกพรุนคืออะไร?

เซรามิกพรุนเป็นเซรามิกที่โครงสร้างมีรูพรุนหรือช่องว่างภายในเนื้อหลังการเผา รูพรุนมีทั้งแบบเปิดและแบบปิด กรณีรูพรุนแบบเปิด อนุภาคของของเหลวหรือแก๊สที่มีขนาดเล็กกว่าสามารถแทรกซึมเข้าไปตามรูพรุนได้ ส่วนกรณีรูพรุนแบบปิด อนุภาคต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปตามรูพรุนได้

เซรามิกพรุนแต่ละรูปแบบมีสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งานแตกต่างกัน เช่น เซรามิกที่มีรูพรุนแบบเปิดสามารถใช้เป็นตัวกรองสาร ส่วนเซรามิกที่มีรูพรุนแบบปิดสามารถใช้เป็นฉนวนกันความร้อน

สมบัติเด่นของเซรามิกพรุนมีอะไรบ้าง?

เซรามิกพรุนมีสมบัติเด่นหลายด้าน ได้แก่ น้ำหนักเบา ความหนาแน่นต่ำ พื้นที่ผิวสูง การนำความร้อนต่ำ เป็นฉนวนความร้อนที่ดี มีสมบัติการไหลผ่านสูง มีความแข็งแรงเชิงกลดี ทนต่อการขัดสีและการกัดกร่อนของสารเคมีที่อุณหภูมิสูง และทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลัน

เซรามิกพรุนใช้ทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง?

เซรามิกพรุนสามารถขึ้นรูปได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ท่อกลวง ท่อตัน แผ่น รวงผึ้ง โฟม และสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ไส้กรองน้ำ เบ้าเผาสาร แผ่นรองเผา เฟอร์นิเจอร์ในเตาเผา

อุตสาหกรรมใดสามารถใช้ประโยชน์จากเซรามิกพรุนได้บ้าง?

มีการนำเซรามิกพรุนไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้ เช่น วัสดุทนไฟ อาหาร เครื่องดื่ม ยา การแพทย์ ชีวภาพ เคมี ปิโตรเคมี สิ่งทอ การบำบัดน้ำ และการทำน้ำให้บริสุทธิ์

ทีมวิจัยพัฒนาเซรามิกพรุนอย่างไร?

เซรามิกรวงผึ้ง (honeycomb ceramic)

ท่อเมมเบรน (membrane tube)

แผ่นเซรามิก (ceramic sheet)

ทีมวิจัยพัฒนาเซรามิกพรุนโดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการขึ้นรูปเซรามิกต่างๆ เช่น การอัดรีด (extrusion) และ การเทแบบ (slip casting) ต้นแบบเซรามิกพรุนที่พัฒนาขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการ ได้แก่ เซรามิกรวงผึ้ง (honeycomb ceramic) ท่อเมมเบรน (membrane tube) แผ่นเซรามิก (ceramic sheet) แผ่นรองรับพรุน (porous substrate) บอร์ดอะลูมินาพรุน (porous alumina board) และไส้กรองน้ำเซรามิก (ceramic water filter)

แผ่นรองรับพรุน
(porous substrate)

บอร์ดอะลูมินาพรุน
(porous alumina board)

ไส้กรองน้ำเซรามิกคอมพอสิท
(composite ceramic water filter)

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ดร.จรัสพร มงคลขจิต กลุ่มวิจัยเซรามิกและวัสดุก่อสร้าง
โทร. +66 2 564 6500 ต่อ 4231
E-mail: charuspm@mtec.or.th

The post เซรามิกพรุน appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>