เอ็มเทค สวทช. ขับเคลื่อนงานวิจัยด้านระบบรางไทย ในงาน Asia Pacific Rail 2025

            28 พฤษภาคม 2568 – นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงาน Asia Pacific Rail 2025 การประชุมและนิทรรศการด้านระบบรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยมีผู้ผลิต ผู้เชี่ยวชาญ นักพัฒนา และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมระบบรางจากทั่วโลกร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และจัดแสดงนวัตกรรมล่าสุด

            ในโอกาสนี้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการขนส่งทางรางในการพัฒนาประเทศ ภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสของประเทศไทย” โดยกระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ระบบรางเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มความปลอดภัย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง และ พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางด้วยรถไฟ นอกจากนี้ ยังเดินหน้าผลักดันโครงการสำคัญหลายโครงการ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีส้ม, ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง และ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมถึงนโยบาย ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางมากขึ้น

           นอกจากการพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว กระทรวงคมนาคมยังมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการให้บริการรถไฟระหว่างเมืองและพัฒนาสถานีรถไฟให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ปัจจุบัน การก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จกว่า 861 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 132 กิโลเมตร โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเดินรถไฟทางคู่ สายลพบุรี-ปากน้ำโพอย่างเป็นทางการ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบรางของไทย อีกทั้ง ประเทศไทยยังมุ่งพัฒนาศักยภาพการผลิตหัวรถจักรและตู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายระบบรางที่ไร้รอยต่อ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคในอนาคต

            ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. โดยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ได้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบรางภายในงาน ได้แก่

           1. คู่มือมาตรฐานปฏิบัติงาน สำหรับการตรวจสอบความเสียหายของล้อและเพลารถไฟ – นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถและลดต้นทุนการบำรุงรักษา

           2. Thailand Corrosion Map แผนที่การกัดกร่อนประเทศไทย – ฐานข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการวางแผนการออกแบบและบำรุงรักษาโครงสร้างระบบรางให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่

           3. การพัฒนาอุปกรณ์และระบบตรวจสอบหมุดยึดรางรถไฟ โดยใช้เทคโนโลยีแมชชีนวิชชั่น – ระบบอัจฉริยะที่ช่วยตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างรางได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

           4. การพัฒนาวิธีซ่อมรางรถไฟ ด้วยเทคนิค Laser Cladding – เทคโนโลยีการซ่อมแซมที่ทันสมัย ช่วยยืดอายุการใช้งานของรางรถไฟและลดต้นทุนการเปลี่ยนทดแทน

           5. การพัฒนาพื้นน้ำหนักเบา สำหรับตู้โดยสารรถไฟ (Light Weight Floor Development) – นวัตกรรมที่ช่วยลดน้ำหนักตู้โดยสาร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความสะดวกสบายของผู้โดยสาร

 

ในโอกาสนี้ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้ให้เกียรติเยี่ยมชมบูทผลงานของเอ็มเทคเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 พร้อมทั้งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมวิจัยอย่างใกล้ชิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยเอ็มเทคต่อการพัฒนาระบบรางของประเทศ