MTEC สวทช. ชวนผู้ประกอบการไทยสู่ Industry 4.0 ตรวจสุขภาพโรงงานฟรี เรียนรู้ Digital Twin

19 มิถุนายน 2568
ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

          ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 โดยได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยี Digital Twin ในยุค Industry 4.0” ภายในงาน Manufacturing Expo 2025 ณ ไบเทค บางนา บรรยายโดย ดร.สมบูรณ์ โอตรวรรณะ และ ดร.ยศกร ประทุมวัลย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค สวทช.

          สำหรับ Digital Twin หรือ “ฝาแฝดดิจิทัล” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน Industry 4.0 ซึ่งเป็นการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของวัตถุ กระบวนการ หรือระบบทางกายภาพขึ้นมาในโลกดิจิทัล และเชื่อมโยงกับข้อมูลจริงแบบเรียลไทม์ผ่านเซ็นเซอร์ IoT ทำให้สามารถเฝ้าระวัง วิเคราะห์ และทำนายพฤติกรรมได้อย่างแม่นยำ เทคโนโลยี Digital Twin แบ่งออกเป็น 3 ระดับหลัก 

Tier 3: Geometry Engineering (3D CAD) เป็นระดับพื้นฐานที่สร้างโมเดลดิจิทัล 3 มิติด้วยโปรแกรม CAD ตัวอย่างการใช้งาน เช่น การสร้างแบบจำลอง 3 มิติสำหรับวางแผนกู้ภัยในกรณีตึกถล่ม หรือการทำแผนผังท่อใต้ดินในโรงงานเพื่อให้การทำงานแม่นยำกว่าการวัดด้วยมือ

Tier 2: Engineering Simulation (CAE) เป็นการนำโมเดล 3 มิติมาผนวกกับการจำลองทางวิศวกรรม (CAE) เช่น Finite Element Analysis (FEA) และ Computational Fluid Dynamics (CFD) เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น การออกแบบล้อแม็กให้แข็งแรงแต่เบา การวิเคราะห์การกระจายความร้อนในโรงไฟฟ้า หรือการหาสาเหตุเพลาหักในโรงงาน

Tier 1: Simulation-Based Digital Twin คือระดับสูงสุดที่จำลองผลลัพธ์ทุกกรณีล่วงหน้าและจัดเก็บในรูปแบบ “Reduced Order Model (ROM)” เมื่อได้รับข้อมูลเรียลไทม์จากเซ็นเซอร์ จะสามารถคำนวณและแสดงผลต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพการทำงาน อัตราการสึกหรอ ได้ภายในเสี้ยววินาที เทคโนโลยีนี้เหมาะสำหรับการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์และการเฝ้าติดตามสินทรัพย์แบบเรียลไทม์

           สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการยกระดับสู่ Industry 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Digital Twin ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันในยุคดิจิทัล MTEC สวทช. มีทีมวิจัย CAE ที่เชี่ยวชาญพร้อมให้บริการหลากหลาย อาทิ การบริการทดสอบ, การฝึกอบรมเชิงเทคนิค (Finite Element, CFD, การออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม, วัสดุศาสตร์), การให้คำปรึกษาทางเทคนิค, การรับจ้างวิจัย และร่วมวิจัย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SME ยังสามารถรับส่วนลดค่าบริการครึ่งหนึ่งจากการสนับสนุนของหน่วยงาน iTAP ของ สวทช. อีกด้วย