
วันที่ 6 มิถุนายน 2568
พื้นที่ตำบลบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ดำเนินการพัฒนาต้นแบบเรือช้อนตักขยะและกำจัดวัชพืชในคลองซอย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการแก้ไขปัญหาการสะสมของวัชพืชในคลองซอย ภายในพื้นที่ตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม


การลงพื้นที่ในครั้งนี้นำโดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการเอ็มเทค พร้อมคณะนักวิจัย โดยได้รับการต้อนรับจาก นางสาวเรณู เล็กนิมิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที และคณะ พร้อมร่วมหารือถึงการแก้ไขปัญหาที่ทาง อบต. บางคนที ได้ประสบปัญหาวัชพืชสะสมและกีดขวางทางระบายน้ำและการสัญจรในคลองซอยและทางน้ำสายย่อยซึ่งเชื่อมจากแม่น้ำแม่กลอง อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเน่าเสียของน้ำในระยะยาว


ในโอกาสนี้ เอ็มเทค โดยทีมวิจัยงานพัฒนาเครื่องจักรกล ได้พัฒนาผลงานต้นแบบเรือช้อนตักขยะและกำจัดวัชพืชในคลองซอย ที่มีจุดเริ่มต้นจากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล ความต้องการของผู้ใช้ เพื่อการออกแบบที่เหมาะสมในเชิงวิศวกรรม การใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่เกิดประโยชน์และสร้างผลกระทบในเชิงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ด้วยงบประมาณวิจัยภายใต้โครงการ สร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
การดำเนินงานดังกล่าว เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดย อบต. บางคนที ประสานไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อขอความอนุเคราะห์เรือช้อนตักขยะและกำจัดวัชพืชในคลองซอย มุ่งหวังให้เป็นเครื่องทุนแรงในกิจกรรมลงแขกลงคลอง ซึ่งเป็นการระดมแรงงานชาวบ้านในพื้นที่เพื่อการจัดการเปิดทางน้ำ จัดเก็บวัชพืชที่กัดขวาง และพัฒนาปรับปรุงส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่คลองซอยให้รองรับการทำหน้าที่ระบายน้ำ และช่องทางสัญจรหลักของชุมชนที่ยังอยู่ในวิถีครัวเรือนที่ใช้ชีวิตร่วมกับแหล่งน้ำ ที่มรกิจกรรมการเกษตร และการสัญจรทางเรือ เป็นหลัก ซึ่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ทีมวิจัยได้ส่งมอบผลงานต้นแบบเรือช้อนตักขยะและกำจัดวัชพืชในคลองซอย ให้แก่ อบต. บางคนที พร้อมติดตามการใช้งานเพื่อประเมินและรวบรวมข้อมูลด้านเทคนิคสำหรับการปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติม โดยการติดตามการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ผลงานต้นแบบเรือช้อนตักขยะและกำจัดวัชพืชในคลองซอย สามารถใช้งานได้ดี และใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผลงาน



จากความสำเร็จในกิจกรรมดังกล่าว ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จะยังคงเดินหน้าในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ต่อไป
