
วันที่ 1 พฤษภาคม 2568
อิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้จัดงานเสวนาพิเศษ “ฟื้นฟูที่อยู่อาศัยหลังแผ่นดินไหว: นวัตกรรมซ่อมแซม เสริมแรง และลดความเสียหาย” ณ INNO-CORNER ในงานสถาปนิก’68 เพื่อแบ่งปันความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้าง วัสดุศาสตร์ และเทคโนโลยีการซ่อมแซมอาคาร ให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป โดยได้รับเกียรติจาก ดร. อศิรา เฟื่องฟูชาติ รองผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวเปิดงาน

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อหลายพื้นที่และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยทางวิศวกรรมโครงสร้างและความจำเป็นในการฟื้นฟูอาคารที่ได้รับความเสียหาย


สรุปสาระสำคัญของการเสวนา
ผลกระทบแผ่นดินไหว M7.7 และแนวทางป้องกัน
โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย
ศ.ดร.อมร ได้อธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งมีต้นกำเนิดจากรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ในประเทศเมียนมา หนึ่งในรอยเลื่อนที่มีศักยภาพในการก่อแผ่นดินไหวรุนแรงระดับโลก โดยรอยเลื่อนนี้มีแนวเชื่อมโยงกับรอยเลื่อนสำคัญในประเทศไทย เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับแมกนิจูด 7 และอยู่ในระยะใกล้กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนแอ่งตะกอนดินอ่อนซึ่งมีคุณสมบัติขยายแรงสั่นสะเทือน ทำให้อาคารสูงมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด แม้ประเทศไทยจะมีกฎกระทรวงว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2550 และมาตรฐานทางวิศวกรรมที่รองรับแรงสั่นไหว แต่เหตุการณ์ล่าสุดได้กระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงความเสี่ยงมากขึ้น
ศ.ดร.อมร ได้ยกตัวอย่างกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะการพังทลายของปล่องลิฟต์ ซึ่งโดยปกติควรเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุด จากการตรวจสอบอาคารสูงหลายพันแห่งในกรุงเทพฯ พบว่าแม้ส่วนใหญ่จะผ่านการประเมินความมั่นคง แต่มีข้อสังเกตว่าผนังปล่องลิฟต์จำนวนมากได้รับความเสียหาย แม้จะอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง แต่ก็สะท้อนถึงความเปราะบางที่อาจเป็นความเสี่ยงสำคัญ
ท้ายที่สุด วิทยากรแนะนำแนวทางเสริมความแข็งแรงของอาคาร เช่น การหุ้มเสาและผนังด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือการพันด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ พร้อมเสนอให้ติดตั้งระบบตรวจสอบสุขภาพโครงสร้าง (Structural Health Monitoring System) เพื่อประเมินความปลอดภัยของอาคารได้อย่างทันท่วงทีหลังเกิดแผ่นดินไหว


แนวทางการซ่อมแซมและเสริมกำลังอาคารหลังแผ่นดินไหว
โดย Mr. Julian Kuo, General Manager (Swancor)
Mr. Julian Kuo ได้แบ่งปันประสบการณ์จากประเทศไต้หวัน โดยเฉพาะบทเรียนจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 1999 ซึ่งมีความรุนแรงถึง 7.6 แมกนิจูด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน อาคารจำนวนมากพังทลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้รัฐบาลไต้หวันทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารอย่างจริงจัง
วิทยากรอธิบายว่า ความเสียหายจากแผ่นดินไหวมักเกิดจากแรงสั่นสะเทือนหรือการเคลื่อนตัวเกินขีดจำกัดของโครงสร้าง การซ่อมแซมและเสริมกำลังอาคารจึงมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวและฟื้นฟูความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก ในด้านเทคนิค Mr. Julian แนะนำวิธีการซ่อมแซมรอยร้าวโดยการฉีดวัสดุ เช่น อีพ็อกซี่ โดยใช้แรงดันต่ำสำหรับรอยร้าวขนาดเล็กถึงปานกลาง และเน้นย้ำว่าหากพบรอยร้าวขนาดเกิน 0.2 มิลลิเมตรในส่วนโครงสร้างหลัก ควรปรึกษาวิศวกรโครงสร้างโดยตรง
นอกจากนี้ เขายังเน้นถึงประสิทธิภาพของวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) ซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงสูง สามารถใช้พันรอบเสา คาน หรือผนัง เพื่อเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้าง และแนะนำทางเลือกอื่นอย่างการเสริมกำลังด้วยแผ่นเหล็ก เทคนิคเหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้กับอาคารบ้านเรือน วัด และสะพานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


จีโอโพลิเมอร์มอร์ตาร์สำหรับงานซ่อมแซม
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริธันว์ เจียมศิริเลิศ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.ศิริธันว์ ได้นำเสนอวัสดุจีโอโพลิเมอร์มอร์ตาร์ในฐานะวัสดุซ่อมแซมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Material) โดยจีโอโพลิเมอร์จัดเป็นวัสดุที่ยั่งยืน ซึ่งได้จากการสังเคราะห์วัสดุอะลูมิโนซิลิเกต เช่น เถ้าลอยหรือสแล็กจากอุตสาหกรรมเหล็ก ด้วยสารละลายด่างภายใต้อุณหภูมิห้องหรือสูงกว่าเพียงเล็กน้อย
วัสดุจีโอโพลิเมอร์ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการทดแทนซีเมนต์ทั่วไป โดยช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต อีกทั้งยังมีศักยภาพในการใช้งานซ่อมแซมโครงสร้างที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ด้วยคุณสมบัติเด่น เช่น ความแข็งแรงทางกลสูง การหดตัวต่ำ ความทนทานต่อสารเคมี และการแข็งตัวรวดเร็ว ซึ่งแม้ความเร็วในการแข็งตัวอาจเป็นข้อจำกัดในบางกรณี แต่สามารถปรับแต่งให้เหมาะกับการใช้งานได้
นอกจากนี้ จีโอโพลิเมอร์ยังมีต้นทุนที่อาจต่ำกว่าวัสดุอย่างอีพ็อกซี่ในงานซ่อมแซมบางประเภท อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้ของเสียจากอุตสาหกรรม ถือเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน


นวัตกรรมวัสดุเพื่อการฟื้นฟูและเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่อาคาร
โดย ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล หัวหน้าทีมวิจัยซีเมนต์และวัสดุคอมพอสิตเพื่อความยั่งยืน MTEC สวทช.
ดร.พิทักษ์ ได้แบ่งประเภทของความเสียหายอาคารออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนโครงสร้างหลัก และส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง โดยเน้นย้ำว่าการซ่อมแซมโครงสร้างหลักจำเป็นต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมอ้างอิงมาตรฐานการประเมินความเสียหายอาคารในประเทศไทย ซึ่งแบ่งความเสียหายออกเป็น 4 ระดับ โดยระดับ 4 ถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ในด้านวัสดุซ่อมแซม วิทยากรแนะนำวัสดุพื้นฐานที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด ได้แก่
• มอร์ตาร์ผสมโพลิเมอร์: เหมาะสำหรับรอยร้าวที่ไม่มีการเคลื่อนไหวมาก
• อีพ็อกซี่สำหรับฉีด: ให้ความแข็งแรงสูง แต่มีข้อจำกัดด้านความทนทานต่อรังสี UV และความชื้น
• วัสดุยาแนวชนิดยืดหยุ่นสูง: ใช้สำหรับส่วนที่ต้องการการเคลื่อนตัวร่วม
การเลือกใช้วัสดุควรพิจารณาตามตำแหน่งและลักษณะของความเสียหาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ดร.พิทักษ์ ยังได้นำเสนอนวัตกรรมวัสดุแห่งอนาคตสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ได้แก่ คอนกรีตมวลเบาที่ใช้มวลรวมน้ำหนักเบา ซึ่งพัฒนาโดย MTEC จากวัสดุพลอยได้ในอุตสาหกรรม วัสดุดังกล่าวสามารถลดน้ำหนักโครงสร้างลงได้ราว 20–30% ขณะยังคงความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นสูงกว่าคอนกรีตทั่วไป จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการใช้งานในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว อีกทั้งยังมีข้อดีด้านการติดตั้งง่าย และมีคุณสมบัติเป็นฉนวนความร้อนและเสียง
นอกจากนี้ ดร.พิทักษ์ ยังได้นำเสนอผลิตภัณฑ์น้ำยางมะตอยประเภท Seal Coat ซึ่งสามารถใช้เคลือบและซ่อมแซมพื้นผิวถนนหรือทางเท้าได้อย่างรวดเร็วและเรียบเนียนสวยงาม อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ความร้อนในการทำงานเหมือนกับน้ำยางมะตอยทั่วไป






โดยรวม วิทยากรทุกท่านต่างเน้นย้ำว่า ความพร้อมในการรับมือแผ่นดินไหวต้องอาศัยความเข้าใจทั้งด้านความเสี่ยง โครงสร้าง การซ่อมแซมที่ถูกต้อง และการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างยั่งยืน