ผลิต ‘เนื้อเทียม’ อย่างไร..ให้เหมือนเนื้อแท้?
เรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ผู้บริโภคในปัจจุบันใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวโน้มหนึ่งคือ การบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมจากโปรตีนพืช
อย่างไรก็ดี โปรตีนพืชอาจมีเนื้อสัมผัส รสชาติ และกลิ่นไม่ถูกปาก เพื่อแก้ปัญหานี้ ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จึงผนวกความรู้ทางวัสดุศาสตร์เข้ากับวิทยาศาสตร์การอาหาร เพื่อพัฒนาอาหารจากโปรตีนพืชที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ
โปรตีนพืชมีโครงสร้างเป็นก้อนกลมซึ่งมีสายเพปไทด์พันกันไปมา ในขณะที่โปรตีนกล้ามเนื้อจัดเรียงตัวเป็นเส้นขนาน การพัฒนาโปรตีนพืชให้มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์จึงมี 2 แนวทางหลัก ได้แก่
1) Top-down Strategy: ใช้ส่วนประกอบหรือกระบวนการที่ทำให้โครงสร้างปลายทางคล้ายเนื้อสัตว์ เช่น การปั่นผสม (mixing/blending) และเอ็กซ์ทรูชัน (extrusion)
2) Bottom-up Strategy: สร้างเส้นใยทีละเส้นจากระดับโมเลกุลจนได้โครงสร้างกล้ามเนื้อ เช่น พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
แนวทางแรกสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะการปั่นผสม ซึ่งใช้เครื่องจักรทั่วไปและมีต้นทุนไม่สูง แต่เส้นใยที่ได้จะสั้นกว่าเส้นใยที่ได้จากเอ็กซ์ทรูชัน ส่วนแนวทางที่ 2 มีต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลานานในการขึ้นรูปชิ้นเนื้อ และขยายสเกลได้ยาก ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมด้วยวิธีปั่นผสมและเอ็กซ์ทรูชัน
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติก็มีประโยชน์ในการพัฒนาอาหารเฉพาะบุคคล เนื่องจากปรับวัตถุดิบตามปริมาณสารอาหารสำคัญให้เหมาะกับแต่ละบุคคลได้ จากนั้นจึงขึ้นรูปให้มีโครงสร้าง รูปร่าง และเนื้อสัมผัสที่ต้องการ แล้วปรุงสุกในขั้นตอนสุดท้าย

การปั่นผสม เป็นวิธีที่ไม่ทำลายโครงสร้างโปรตีน แต่ใช้การผสมส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วทำให้เกิดการแยกเฟส เพื่อให้เกิดโครงสร้างจัดเรียงเป็นชั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์
เอ็มเทคใช้การปั่นผสมพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ (Ve-Chick) ในรูปแบบอาหารพร้อมบริโภคและพรีมิกซ์ และอาหารทะเล (Ve-Sea) เช่น กุ้ง ปลา และปลาหมึก
กระบวนการเอ็กซ์ทรูชัน มีเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์ 2 แบบ แบบแรก คือเครื่องเอ็กทรูเดอร์ความชื้นสูงซึ่งมีหัวดาย (die) ยาว ทำให้โปรตีนที่ออกจากหัวดายเย็นตัวช้าๆ และจัดเรียงตัวในทิศทางเดียวกัน เนื้อเทียมที่ได้มีความชื้นสูงราว 65-70% และมีโปรตีนที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าเนื้อจริง ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเส้นใยใกล้เคียงเนื้อสัตว์ เอ็มเทคพัฒนาเนื้อเทียมความชื้นสูงด้วยเครื่องแบบนี้
แบบที่สองเป็นเอ็กทรูเดอร์แบบความชื้นต่ำซึ่งมีหัวดายสั้น เมื่อไอน้ำในโปรตีนที่ออกจากหัวดายกระทบอากาศภายนอกที่มีอุณหภูมิและแรงดันที่ต่ำกว่า ไอน้ำก็จะระเหยเกิดโพรงอากาศในผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากเครื่องแบบนี้ เช่น โปรตีนเกษตร
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
คุณชนิต วานิกานุกูล
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4788
อีเมล: chanitw@mtec.or.th