helmet Archives - MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ https://www.mtec.or.th/tag/helmet/ National Metal and Materials Technology Center Fri, 03 Jan 2025 03:08:14 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.8.1 https://www.mtec.or.th/wp-content/uploads/2019/03/favicon.ico helmet Archives - MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ https://www.mtec.or.th/tag/helmet/ 32 32 การออกแบบ พัฒนาเกณฑ์ประเมิน และทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ https://www.mtec.or.th/helmet/ Mon, 19 Jun 2023 02:53:12 +0000 http://10.228.23.44:38014/?p=22090 ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการออกแบบและพัฒนาเกณฑ์ประเมินหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่ครอบคลุมทุกมิติ เป็นกลาง และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

The post การออกแบบ พัฒนาเกณฑ์ประเมิน และทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>

การออกแบบ พัฒนาเกณฑ์ประเมิน และทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการออกแบบและพัฒนาเกณฑ์ประเมินหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่ครอบคลุมทุกมิติ เป็นกลาง และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย จึงร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ดำเนินโครงการเพื่อสุ่มตรวจทดสอบกลุ่มตัวอย่างหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในท้องตลาด เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหมวกนิรภัยได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ในการดำเนินการ ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ นำโดยนายเศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว

ปัจจุบัน หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในท้องตลาด ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าประเภทหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ จากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เรียกว่า มาตรฐานอุตสาหกรรม หมวกนิรภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ มีหมายเลขกำกับคือ 369-2557 เป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยแบบและชนิดของหมวกนิรภัยที่ใช้งานกับรถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร วิธีการทดสอบและเกณฑ์การประเมินคุณสมบัติของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในแต่ละแบบ โดยมีวิธีการทดสอบและเกณฑ์การประเมินที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล

คำแนะนำในการเลือกซื้อหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

นายเศรษฐลัทธ์ กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นผู้แทนผู้บริโภค มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน สภาองค์กรผู้บริโภคต้องการทราบว่าหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์มีการทดสอบอย่างไร หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์รุ่นใดผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐานบ้าง ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้บริโภคประสบปัญหาการเลือกซื้อหมวกนิรภัยที่เชื่อถือได้ ต้องการข้อมูลที่เป็นกลางและเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากหมวกนิรภัยมีหลายประเภท และมีราคาและรุ่นต่างๆ อย่างหลากหลาย จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย”

ทีมวิจัยได้ออกแบบและพัฒนาเกณฑ์ประเมินและทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ทั้ง 3 แบบ ได้แก่ แบบเต็มใบปิดใบหน้า แบบเต็มใบเปิดใบหน้า และแบบครึ่งใบ จำนวน 25 รุ่น เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณภาพด้านความปลอดภัยของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์เมื่อเทียบกับราคาสินค้า

หลักการทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์

ทีมวิจัยพัฒนาหลักเกณฑ์การทดสอบสำหรับโครงการนี้เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการเลือกซื้อสินค้า โดยทดสอบคุณสมบัติ 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ด้าน Passive safety คิดเป็น 40% คือ การทดสอบความสามารถในการปกป้องเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ศึกษาว่าหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ถูกกระแทกแล้วเป็นอย่างไร เป็นการประเมินแบบวัตถุวิสัย (objective) โดยประเมินจากการทดสอบ 3 รายการ ได้แก่ การดูดกลืนการกระแทก การคงรูป และสายรัดคาง ตามมาตรฐาน มอก. 369-2557

กลุ่มที่ 2 ด้าน Active safety คิดเป็น 30% คือ การทดสอบความสามารถในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ มีการประเมินแบบวัตถุวิสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกลของแผ่นบังลมตามมาตรฐาน มอก. 369-2557 ร่วมกับการประเมินแบบอัตวิสัย (subjective) จากผู้ร่วมทดสอบเกี่ยวกับมุมมองและการมองเห็น และความรู้สึกปลอดภัยในการใช้สายรัดคาง

กลุ่มที่ 3 ด้าน Comfort & Fitting คิดเป็น 30% คือ การประเมินความพึงพอใจในการสวมใส่และใช้งาน เป็นการประเมินแบบอัตวิสัยจากผู้ร่วมทดสอบในหัวข้อความรู้สึกปลอดภัย ความสะดวกสบายในการใช้งาน ความกระชับในการสวมใส่ การระบายอากาศ และการป้องกันเสียงรบกวน

เกณฑ์และวิธีการทดสอบการประเมิน

นายเศรษฐลัทธ์ เล่าต่อว่า “การทดสอบประเมินแบบวัตถุวิสัยทั้งด้าน Passive safety และ Active safety เป็นรายการตามมาตรฐาน มอก. 369-2557 กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่มีความแตกต่างด้านการชักตัวอย่างมาทดสอบ โดยทีมวิจัยได้ให้ความสำคัญกับการจัดหาตัวอย่างเพื่อนำมาทดสอบอย่างมาก คือ ใช้วิธีการสุ่มซื้อตัวอย่างเสมือนผู้บริโภคจากช่องทางต่างๆ ในท้องตลาด ทั้งจากห้างสรรพสินค้า ร้านตัวแทนจำหน่ายหมวกนิรภัย และร้านค้าออนไลน์ โดยสินค้าต้องมีจำหน่ายในประเทศไทย มีเครื่องหมาย มอก. 369-2557 แสดงบนหมวก และมีราคาไม่เกินใบละ 20,000 บาท”

เขาชี้ประเด็นสำคัญให้เห็นว่า“การจัดหาตัวอย่างที่ทีมวิจัยใช้แตกต่างจากการชักตัวอย่างของ สมอ. ซึ่งใช้วิธีสุ่มเลือกตัวอย่างจากบริษัทหรือไลน์การผลิตโดยตรง”

การทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์

นายเศรษฐลัทธ์ เล่าว่า “ทีมวิจัยมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างและการตรวจสอบหมวกนิรภัยทุกใบ โดยก่อนการทดสอบจะดูรายละเอียดของรูปร่างภายนอก น้ำหนัก ขนาด วันผลิต และลักษณะทางวัสดุของหมวก รวมถึงการตรวจสอบการแสดงฉลากเครื่องหมายมอก. 369-2557 พร้อม QR code ว่ามีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และพบว่า ผู้ผลิตได้ให้คำแนะนำอายุการใช้หมวกนิรภัยส่วนใหญ่ควรเปลี่ยนทุก 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ผลิต”

“ส่วนการทดสอบการประเมินแบบวัตถุวิสัย ทีมวิจัยได้คัดเลือกการทดสอบที่ตอบโจทย์และเหมาะสมสำหรับโครงการจำนวน 4 การทดสอบ ตามการทดสอบมาตรฐาน มอก. 369-2557 ที่มีการทดสอบอยู่แล้ว ได้แก่

การทดสอบการดูดกลืนแรงกระแทก เป็นการจำลองสถานการณ์รับแรงกระแทกที่เกิดขึ้น การทดสอบทำในสภาวะห้องทดสอบ โดยใช้ศีรษะจำลองสวมหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ และปล่อยหมวกนิรภัยให้ตกอย่างอิสระกระแทกกับทั่งกระแทกที่กำหนด ภายในศีรษะจำลองจะมีเซนเซอร์วัดความเร่งที่ได้รับเท่าไหร่ และเทียบกับเกณฑ์การบาดเจ็บของศีรษะ HIC (Head Injury Criteria)

การทดสอบการคงรูป เป็นการทดสอบการกดหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ด้วยเครื่องทดสอบที่ประกอบด้วยแผ่นกด 2 แผ่น โดยจะค่อยๆ กดลงไปและวัดความคงสภาพเมื่อปล่อยคืน

การทดสอบสายรัดคาง การทดสอบจะสวมหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์กับศีรษะจำลอง และรัดสายรัดคางให้แน่นตามการใช้งานปกติ นำไปแขวนกับเครื่องทดสอบ ถ่วงด้วยอุปกรณ์ถ่วงและกระชากด้วยลูกตุ้ม เพื่อดูว่าสายรัดคางยืดออกไประหว่างที่ดึงเท่าไหร่ คืนรูปกลับเหมือนเดิมหรือไม่ หรือเสียรูปไปเลย

การทดสอบแผ่นบังลม เป็นการทดสอบโดยใช้หัวกระแทกทรงกรวยมากระแทกที่แผ่นบังลมว่าแตกหรือไม่”

นายเศรษฐลัทธ์ อธิบายต่อว่า “ส่วนการทดสอบแบบการประเมินแบบอัตวิสัย โดยประเมินจากผู้ร่วมทดสอบที่มีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะหลัก เป็นผู้ที่มีใบขับขี่ และใช้รถจักรยานยนต์มาไม่น้อยกว่า 2 ปี ตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินคุณสมบัติของตัวอย่างหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในหัวข้อต่างๆ เช่น ความสบายในการสวมใส่ การระบายอากาศของหมวก ระดับเสียงที่ผู้ร่วมทดสอบได้ยินระหว่างการขับขี่ นอกจากนี้ได้ตรวจสอบคุณสมบัติด้านการมองเห็นในตอนกลางวันและกลางคืนของผู้ร่วมทดสอบในกลุ่ม Active safety ด้วย”

ผลการทดสอบ สู่เกณฑ์คะแนนของการประเมินหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์

ทีมวิจัยมีแนวคิดที่ต้องการแปลงเกณฑ์คะแนนของการประเมินหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ของโครงการนี้ให้มีระดับคล้ายกับคะแนนคุณภาพของสินค้าอื่นๆ ที่ผู้บริโภคคุ้นเคย โดยใช้เกณฑ์ 5 ดาว หมายถึง ดีที่สุด และน้อยลงไปตามลำดับ จนถึงระดับ 0 หมายถึงแย่ที่สุด

นายเศรษฐลัทธ์ อธิบายว่า “หากกล่าวในเชิงผลการทดสอบเชิงคุณภาพ พบว่ามีหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน 11 ตัวอย่าง จากหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่ทดสอบทั้งหมด 25 ตัวอย่าง แบ่งเป็นหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์แบบครึ่งใบ ไม่ผ่านมาตรฐาน 3 จาก 6 ตัวอย่าง แบบเต็มใบเปิดหน้า ไม่ผ่านมาตรฐาน 2 จาก 4 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าป้องกันคาง ไม่ผ่านมาตรฐาน 1 จาก 6 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าป้องกันคาง ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าไม่ป้องกันคาง ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ตัวอย่าง และหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์สำหรับเด็ก ไม่ผ่านมาตรฐานทั้ง 5 ตัวอย่าง (หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์สำหรับเด็ก ในนิยามตามมาตรฐาน มอก. 369-2557 คือหมวกที่มีขนาดเล็ก ที่เด็กหรือเยาวชนสามารถใส่ได้)”

“ผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์มาสวมใส่ เป็นการพัฒนาเกณฑ์ประเมินคุณภาพแบบใหม่ที่นำเสนอผลลัพธ์ในเชิงตัวเลข เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและนำไปเปรียบเทียบกันได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสภาองค์กรของผู้บริโภค https://www.tcc.or.th/08052566_helmet-test_news/” เขากล่าวสรุปและให้ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

ข้อเสนอแนะทางนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากการศึกษาของโครงการนี้ ทีมวิจัยพบว่า หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์มีจำหน่ายในท้องตลาดที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. แล้วเมื่อนำมาทดสอบทวนซ้ำ หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ส่วนหนึ่งกลับไม่ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน ประเด็นสำคัญนี้อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น การควบคุมคุณภาพการผลิตของผู้ผลิตบางราย หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ การปลอมแปลงตราสัญลักษณ์ มอก. ตลอดจนอายุการใช้งานและการเสื่อมสภาพ ดังนั้น ทีมวิจัยจึงจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายเศรษฐลัทธ์ เล่าว่า “หลังจากทดสอบและประเมินผลออกมาแล้ว ทีมวิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยรถจักรยานยนต์ โดยเน้นคุณภาพของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ เช่น หน่วยงานที่กำกับดูคุณภาพสินค้า มีข้อเสนอแนะเรื่องการเปลี่ยนวิธีการชักตัวอย่างในการทดสอบมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพ หรือเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรฐานการทดสอบ มีข้อเสนอแนะเรื่องความถี่ในการอัปเดตมาตรฐาน เป็นต้น หน่วยงานทางวิชาการ มีข้อเสนอแนะเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีความปลอดภัย โดยเน้นเรื่องของการป้องกันมากขึ้น”

“ในอนาคตได้มีแนวทางในการที่จะร่วมมือกับ มูลนิธิไทยโรดส์ (ThaiRoads Foundation) (เว็บไซต์: https://www.thairoads.org/) เพื่อศึกษาการย้อนรอยอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดขึ้น ศึกษาสภาพของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ รุ่นไหน และลักษณะของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางศึกษาในอนาคตต่อไป”

“นอกจากนี้ กลุ่มสำคัญที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคที่สุด คือ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้นำเข้าหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ มีข้อเสนอแนะเรื่องฉลากบอกคุณลักษณะ แสดงเครื่องหมายมอก. 369-2557 และ QR code ที่ระบุข้อมูลการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม รวมถึงการเก็บหรือรับคืนหมวกนิรภัยอายุมากกว่า 5 ปี ที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกจากท้องตลาด ผู้บริโภคเองควรใส่ใจ ศึกษาข้อมูลคุณภาพของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในการเลือกซื้อ ตรวจสอบฉลาก ปีการผลิตด้วย”

แผนงานในอนาคต

“ทีมวิจัยมีแผนงานการศึกษาย้อนรอยเพื่อให้เข้าใจอุบัติเหตุศีรษะกระแทกในประเทศไทยให้ครอบคลุมรูปแบบต่างๆ ทั้งหมด จำลองสถานการณ์จริงที่ใช้ทดสอบ โดยบทบาทของทีมวิจัยจะเน้นทางด้านเทคนิค และพยายามพัฒนาเครื่องมือวัด อุปกรณ์วัดที่เหมาะสมขึ้นด้วย” นายเศรษฐลัทธ์ กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก
นายเศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง นักวิชาการ ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

วิดีโอ งานแถลงข่าว ‘เปิดผลทดสอบหมวกกันน็อก ยี่ห้อไหนได้มาตรฐาน ?’ (8 พ.ค. 2566)

The post การออกแบบ พัฒนาเกณฑ์ประเมิน และทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ appeared first on MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.

]]>