แปลและเรียบเรียง โดย อรวรรณ สัมฤทธิ์เดชขจร
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ภาพจาก: https://news.usc.edu/135695/climate-change-game-changer-usc-scientists-find-more-efficient-way-to-convert-methane-into-useful-chemicals/
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีที่ทรงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวร้ายให้กลายเป็นสารเคมีที่เป็นประโยชน์อย่างโอเลฟินสำหรับใช้ในการผลิตพลาสติก สารเคมีทางการเกษตร และเภสัชภัณฑ์
ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิดแต่คาร์บอนไดออกไซด์มักถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่ความจริงแล้วก๊าซที่ร้ายกาจกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 86 เท่าคือมีเทน
ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก USC (University of Southern California) สหรัฐอเมริกาจึงค้นหาวิธีที่เรียบง่ายในการเปลี่ยนมีเทนให้เป็นโอเลฟินมาแทนวิธีการเก่าที่ยุ่งยาก ราคาสูง มีประสิทธิภาพต่ำ ซ้ำยังเพิ่มก๊าซเรือนกระจกให้แก่บรรยากาศด้วย
ภาพจาก: https://pubs.acs.org/doi/10.1021/jacs.7b10725
แผนภาพการเปลี่ยนมีเทนให้เป็นไฮโดรคาร์บอนด้วยขั้นตอนเดียว
ในปี ค.ศ. 1985 George Olah ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีได้พัฒนาวิธีเปลี่ยนมีเทนให้เป็นโอเลฟินด้วยกระบวนการ 3 ขั้นตอน เมื่อเวลาผ่านไป ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาต่อโดยลดกระบวนการเหลือ 2 ขั้นตอน ปัจจุบันทีมวิจัยจาก USC ได้พัฒนาจนเหลือเพียงขั้นตอนเดียวด้วยการใช้คะตะลิสต์และเลือกสภาวะการเกิดปฏิกิริยาที่เหมาะสม
Surya Prakash หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า “ถ้าคาร์บอนคือตัวปัญหา คาร์บอนก็คือตัวแก้ปัญหา มันกลายเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยที่จะเปลี่ยนก๊าซมีเทนที่มีอยู่มากมายบนโลกนี้มาเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สามารถใช้ได้”
สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่
- https://phys.org/news/2018-02-footprint-greenhouse-gas-potent-carbon.html
- https://news.usc.edu/135695/climate-change-game-changer-usc-scientists-find-more-efficient-way-to-convert-methane-into-useful-chemicals/
- Patrice T. D. Batamack et al, One-Pot Conversion of Methane to Light Olefins or Higher Hydrocarbons through H-SAPO-34-Catalyzed in Situ Halogenation, Journal of the American Chemical Society (2017). DOI: 10.1021/jacs.7b10725