โครงการวิจัย

ถุงห่อทุเรียน Magik Growth

ที่มา ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจของประเทศที่ปัจจุบันนิยมปลูกเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 5 เดือนของปี 2564 ทุเรียนมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดที่ 58.344 พันล้านบาท สร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับ 2 รองจากยางพารา ปัญหาที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนพบในการดูแลผลิตผลทุเรียนที่อยู่ในระยะการพัฒนาผลตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการเก็บเกี่ยวคือ การเข้าทำลายของสัตว์และแมลงศัตรูพืชหลายชนิด ซึ่งทำให้ผลผลิตเสียหาย และราคาตกต่ำ วิธีที่ชาวสวนนิยมปฏิบัติคือการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดสัตว์และแมลงศัตรูพืช หากมีการระบาดรุนแรงอาจจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีสัปดาห์ละครั้งหรืออาจทุก 10 วัน สารเคมีเหล่านั้นก่อให้เกิดสารพิษตกค้างทั้งในผลผลิต ผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ส่งผลถึงการส่งออกที่มีมาตรฐานกำหนดเรื่องปริมาณสารพิษตกค้าง อีกทั้งยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตทุเรียนของชาวสวนเพิ่มขึ้น จากปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้พัฒนาวัสดุนอนวูฟเวนจากสูตรพอลิเมอร์คอมพาวด์และการขึ้นรูปนอนวูฟเวนที่เหมาะสม เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นถุงห่อทุเรียน และนำไปทดสอบในพื้นที่สวนของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งให้แนวโน้มผลลัพธ์ที่ดี ช่วยลดการใช้สารเคมี ทุเรียนมีผิวสะอาด ผลทุเรียนที่ได้มีน้ำหนักสูงกว่าผลที่ไม่ได้ห่อผล และมีแนวโน้มปริมาณสัดส่วนของเนื้อทุเรียนเพิ่มขึ้น เป้าหมาย ลดการใช้สารเคมีในสวนทุเรียนโดยใช้ถุงห่อผล รวมถึงส่งต่อความรู้ให้กับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร แกนนำ และผู้สนใจ เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการขยายผลองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ทีมวิจัยทำอย่างไร ทีมวิจัยเอ็มเทคออกแบบลักษณะโครงสร้างและสูตรการผลิตวัสดุนอนวูฟเวนให้มีความแข็งแรง อากาศและน้ำสามารถผ่านเข้าออกได้ และมีการคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสม โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังทดสอบภาคสนามตั้งแต่ปี 2562 เก็บข้อมูลผลผลิต […]

โครงสร้างเสริมความแข็งแรงในการรองรับการพลิกคว่ำของห้องโดยสารรถตู้พยาบาล

ที่มา รถตู้พยาบาลจัดเป็นรถเฉพาะกิจที่พัฒนาขึ้นเพื่อขนย้ายผู้ป่วยจากจุดที่ต้องการไปยังโรงพยาบาล โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำหัตถการฉุกเฉินที่จำเป็นบนรถเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยในระหว่างการนำส่งได้ สำหรับประเทศไทยโครงสร้างห้องโดยสารรถตู้พยาบาลดัดแปลงจากรถตู้พาณิชย์โดยผู้ผลิตรถเฉพาะทาง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิต ตลอดจนยังไม่มีเกณฑ์ควบคุมความปลอดภัยที่ชัดเจนจากหน่วยงานรัฐ ทำให้ข้อกำหนดด้านความแข็งแรงโครงสร้างของห้องโดยสารรถพยาบาลถูกละเลย เมื่อเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะรถเกิดการพลิกคว่ำ โครงสร้างห้องโดยสารมักเกิดการยุบตัวค่อนข้างมากเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเกิดการบาดเจ็บซ้ำซ้อน อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ได้รับอันตราย นำมาสู่ความเสียหายที่มิอาจประเมินค่าได้ แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวสามารถกระทำได้ด้วยการนำข้อกำหนดการประเมินความปลอดภัยห้องโดยสารของรถโดยสารขนาดใหญ่จากการพลิกคว่ำ UN Regulation No. 66 หรือ UN R66 มาใช้ปรับปรุงโครงสร้างด้วยการสร้างพื้นที่ความปลอดภัยเสมือนในห้องโดยสารจากการขยับระยะจากผนังด้านในของห้องโดยสารเข้ามา แล้วพัฒนาโครงสร้างห้องโดยสารรถตู้พยาบาลให้มีความแข็งแรงเพียงพอ และสอดคล้องกับข้อกำหนดของการทดสอบดังกล่าว ที่เมื่อเกิดการพลิกคว่ำแล้ว โครงสร้างห้องโดยสารจะไม่ยุบตัวล้ำเข้าไปในพื้นที่ความปลอดภัยเสมือนที่กำหนดขึ้น โดยใช้ผลการวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ร่วมกับการทดสอบการพลิกคว่ำจริง เปรียบเทียบความแข็งแรงโครงสร้างห้องโดยสารรถตู้พยาบาลก่อนและหลังเสริมความแข็งแรงโครงสร้าง เป้าหมาย ทีมวิจัยของเอ็มเทค และบริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างเสริมความแข็งแรงในการรองรับการพลิกคว่ำของห้องโดยสารรถตู้พยาบาลที่มีความแข็งแรงเพียงพอตามมาตรฐาน UN R66 ทีมวิจัยทำอย่างไร ศึกษาข้อกำหนดเชิงเทคนิคในการออกแบบห้องโดยสารรถตู้พยาบาล และสรุปแนวทางการนำข้อกำหนด UN R66 เพื่อใช้ประยุกต์ในการจำลองและทดสอบการพลิกคว่ำของโครงสร้างห้องโดยสารรถตู้พยาบาล จัดหาซากโครงสร้างรถตู้คันที่ 1 เพื่อนำมาใช้สร้างเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์ของโครงสร้างห้องโดยสารรถตู้พยาบาล และนำไปดัดแปลงให้เป็นห้องโดยสารรถตู้พยาบาล ที่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้งานเทียบเท่ารถตู้พยาบาลจริง เก็บข้อมูลทางกายภาพ ติดตั้งพื้นที่ปลอดภัยตามข้อกำหนด UN R66 รวมถึงเครื่องมือวัดที่จำเป็นเพื่อเก็บข้อมูลในระหว่างทดสอบการพลิกคว่ำ นำโครงสร้างรถตู้พยาบาลมาทดสอบการพลิกคว่ำจริง เพื่อประเมินว่าโครงสร้างรถตู้พยาบาลที่ยังไม่มีการเสริมโครงสร้างความแข็งแรงสอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าวหรือไม่ ตลอดจนมีโครงสร้างใดที่ควรปรับปรุง […]

กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก

ที่มา จากนโยบายส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติ (ยางพารา) ภายในประเทศของภาครัฐโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อช่วยพยุงราคายางและทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้สูงขึ้น ปัจจุบันจึงได้มีความพยายามที่จะนำยางธรรมชาติไปใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญและเริ่มการผลิตใช้งานจริงไปบ้างแล้ว เช่น การนำยางธรรมชาติไปใช้ในการผลิตเสาหลักกิโล แนวกันโค้ง และแผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต เป็นต้น งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำยางธรรมชาติไปใช้ในการผลิตกรวยกั้นจราจร ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายและจำเป็นต้องใช้จำนวนมากในแต่ละปี กรวยกั้นจราจรเหล่านี้ส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติก เช่น เอทิลีนไวนิลอะซีเทตโคพอลิเมอร์ (Ethylene Vinyl Acetate Copolymer, EVA) พอลิเอทิลีน (Polyethylene, PE) หรือ พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride, PVC) ทำให้มีความทนทานต่อการพับงอต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับยาง หากถูกชนหรือถูกกดทับบ่อยๆ ก็จะแตกหักได้ง่ายกว่า อีกทั้งเมื่อผ่านการใช้งานกลางแจ้งเป็นระยะเวลาหนึ่ง กรวยกั้นจราจรเหล่านี้มักจะเสื่อมสภาพ กรอบ และแตกหักง่าย ทำให้มีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้น คณะวิจัยจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) เพื่อนำไปใช้ผลิตกรวยกั้นจราจรคุณภาพสูง เป้าหมาย ผลิตกรวยจราจรที่มีส่วนผสมของยางธรรมชาติมีสมบัติที่ดีกว่าหรือเทียบเท่ากรวยจราจรพลาสติก เช่น มีความยืดหยุ่น ไม่แตกหักเมื่อถูกรถแล่นทับ ทีมวิจัยทำอย่างไร ทีมวิจัยเอ็มเทคดำเนินการทดสอบผลิตภัณฑ์โดยการเตรียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก ศึกษาการขึ้นรูปกรวยกั้นจราจรด้วยวิธีการฉีดขึ้นรูป (injection molding) จากนั้นทำการทดสอบสมบัติของกรวยที่ได้เพื่อให้มีสมบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกรวยพลาสติกกั้นจราจรหรือสมบัติตามที่บริษัทต้องการ ผลวิจัย […]

การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาความสามารถในการออกแบบและผลิตชิ้นส่วน Stay Side Step สำหรับรถกระบะด้วยวัสดุทดแทนจากพลาสติก

ที่มา การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยต้องปรับเปลี่ยนการออกแบบชิ้นส่วนและกระบวนการผลิตบ่อยครั้ง ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนจึงจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ในการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนด้วยตนเอง วัสดุที่นิยมใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์รับน้ำหนักส่วนใหญ่คือเหล็ก ซึ่งมีความพยายามในการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชิ้นส่วนจากเหล็กบางลงหรือเบาลงแต่มีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับความแข็งแรงเดิม น้ำหนักของชิ้นส่วนที่ลดลงย่อมมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานให้แก่ยานยนต์ได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีวัสดุทดแทนโลหะ เช่น พลาสติกวิศวกรรมหลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบากว่า และมีต้นทุนการผลิตโดยรวมต่ำกว่าชิ้นส่วนจากเหล็ก ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากพลาสติก จำเป็นต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนการออกแบบชิ้นส่วนและการเลือกใช้ชนิดของพลาสติกที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากการทำงาน ความแข็งแรง ช่วงอุณหภูมิการใช้งาน และสภาวะการทำงานของชิ้นส่วนดังกล่าว อีกทั้งกระบวนการผลิตยังต้องสอดคล้องกับการออกแบบชิ้นส่วนอีกด้วย ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมและพัฒนาความสามารถทางด้านเทคนิคให้แก่ผู้ประกอบการ โดยให้ความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับการออกแบบชิ้นงาน การเลือกใช้วัสดุ และกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการพัฒนาชิ้นส่วนพลาสติกทดแทนโลหะที่มีสมดุลที่ดีระหว่างคุณภาพและต้นทุนการผลิต เป้าหมาย พัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคนิคให้แก่ผู้ประกอบการในด้านวัสดุศาสตร์ของโพลิเมอร์ การออกแบบชิ้นงานและแม่พิมพ์ และการฉีดขึ้นรูปชิ้นงานพลาสติกที่มีคุณภาพ ต้นแบบชิ้นงาน stay side step จากพลาสติกที่มีสมบัติเชิงกลที่ดีและมีน้ำหนักเบากว่าชิ้นงานจากวัสดุเดิม 10-20% และสามารถนำมาใช้ทดแทน stay side step จากวัสดุโลหะแบบเดิมได้เป็นอย่างดี ทีมวิจัยทำอย่างไร ทำการทดลองเพื่อคัดเลือกชนิดของพลาสติกที่เหมาะสมกับ stay side step จากนั้นออกแบบชิ้นงานด้วย CAD (Computer Aided Design) และวิเคราะห์ความแข็งแรงทางวิศวกรรมด้วย CAE (Computer Aided Engineering) เมื่อได้ชนิดของพลาสติกและแบบที่เหมาะสมแล้ว จึงจำลองการขึ้นรูปด้วยการฉีดเข้าแบบ […]

เม็ดวัสดุมวลเบาสังเคราะห์ G-Rock

ที่มา วัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ “G-Rock” หรือหินเบา เป็นผลงานของทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ทีมวิจัยได้พัฒนาสูตรส่วนผสมและกระบวนการผลิตโดยการนำวัสดุเหลือทิ้งจากแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การเลือกวัตถุดิบจะพิจารณาจากองค์ประกอบทางเคมีเป็นหลัก และนำมาผ่านกรรมวิธีและกระบวนการผลิตทางด้านเซรามิก ได้แก่ กระบวนการขึ้นรูปและกระบวนการเผาอบผนึกที่อุณหภูมิสูง เพื่อให้ได้เม็ดวัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีความเป็นฉนวนความร้อนสูง และมีความแข็งแรงที่ดี ปัจจุบันทีมวิจัยได้พัฒนาต่อยอดวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ “G-Rock” โดยนำมาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้าง เพื่อแก้ปัญหาความร้อนสะสมในอาคาร รวมทั้งปัญหาเรื่องน้ำหนักของชิ้นส่วนอาคารและค่าใช้จ่ายในการขนย้ายและการติดตั้ง เช่น แผ่นผนังและพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นต้น การใช้วัสดุเม็ดมวลรวมเบาสังเคราะห์แทนหินจากธรรมชาติจะช่วยปรับปรุงสมบัติของคอนกรีตมวลเบาให้มีความเป็นฉนวนความร้อนที่ดียิ่งขึ้น และมีน้ำหนักลดลงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงมีความแข็งแรงเทียบเท่าคอนกรีตทั่วไป เป้าหมาย เพื่อนำวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมในประเทศมาใช้ประโยชน์ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ “G-Rock” ในระดับอุตสาหกรรมที่ใช้งานง่าย สะดวก และรวดเร็ว วัสดุนี้ใช้ผสมในงานคอนกรีตช่วยให้คอนกรีตมีสมบัติที่ดีขึ้น เช่น น้ำหนักลดลง มีความเป็นฉนวนเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการก่อสร้าง และยังคงความแข็งแรงเทียบเท่าคอนกรีตทั่วไป รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้ในงานขึ้นรูปชิ้นส่วนคอนกรีตได้หลากหลายรูปแบบ ทีมวิจัยทำอย่างไร ร่วมกับภาคเอกชนออกแบบและพัฒนาสูตรส่วนผสมในกระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยใช้วัตถุดิบที่หาง่ายและราคาถูกจากภายในประเทศ โดยเฉพาะวัสดุที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ขี้เถ้าจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงชีวมวล และตะกอนจากโรงบำบัดน้ำทิ้ง เป็นต้น จุดเด่นของผลงาน มีความหนาแน่นต่ำ ทำให้คอนกรีตที่ผสมเม็ดมวลเบาสังเคราะห์มีน้ำหนักโดยรวมลดลงถึงร้อยละ 20-30  ในขณะที่ยังคงความแข็งแรงเทียบเท่าคอนกรีตโดยทั่วไป […]

1 2 3 26