โครงการวิจัย

การใช้ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ การออกแบบและวิศวกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่อุตสาหกรรมพลาสติก

การใช้ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ การออกแบบและวิศวกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่อุตสาหกรรมพลาสติก ที่มา อุตสาหกรรมพลาสติกต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน จึงให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนา ทั้งในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้พื้นฐานด้านอุตสาหกรรม การพัฒนากระบวนการผลิต การออกแบบเพื่อลดต้นทุนการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาวัสดุใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เป้าหมาย เอ็มเทคเป็นที่ปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมพลาสติกแบบครบวงจร ความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยเอ็มเทค วัสดุโพลิเมอร์ : สามารถทำวิศวกรรมย้อนรอย เพื่อพัฒนาวัสดุให้มีสมบัติที่ดีกว่าเดิม โดยที่ต้นทุนคงเดิมหรือลดลง การออกแบบชิ้นส่วนและแม่พิมพ์ : ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ทางวิศวกรรม (CAE) และจำลองสถานการณ์การขึ้นรูป กระบวนการขึ้นรูป : ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการขึ้นรูป ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติตามต้องการ ศักยภาพของทีมวิจัย พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม ให้มีความรู้ ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย พัฒนาวัสดุใหม่หรือปรับปรุงวัสดุเดิม ออกแบบชิ้นส่วนและแม่พิมพ์ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ พัฒนากระบวนการขึ้นรูปแบบใหม่หรือแก้ไขจุดบกพร่องของกระบวนการที่มีอยู่ มีความพร้อมด้านเครื่องมือ ผลการให้คำปรึกษาแก่อุตสาหกรรม บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมีความรู้พื้นฐานและทักษะในกระบวนการผลิตดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาโดยการใช้ความรู้อย่างเป็นระบบ การทำงานรวดเร็วขึ้น ของเสียลดลง ต้นทุนลดลง แนวโน้มงานวิจัยในอนาคต ลดต้นทุนในการผลิต นำของเสียจากกระบวนการผลิตมาเพิ่มมูลค่า เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาชิ้นส่วนพลาสติกน้ำหนักเบา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ติดต่อ สายทิพย์ โสรัตน์ นักวิเคราะห์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โทร: 02 564 […]

สื่อการเรียนการสอนเครื่องยิงลูกบอลแบบโพรเจคไทล์

สื่อการเรียนการสอนเครื่องยิงลูกบอลแบบโพรเจคไทล์ ต้นแบบเครื่องยิงลูกบอลแบบโพรเจคไทล์พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนแบบใช้โครงงานเป็นฐาน (project- based learning) กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะนำความรู้หลายแขนง เช่น ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับวิศวกรรมเครื่องกลและไฟฟ้า และไมโครคอนโทรลเลอร์มาผนวกกับการใช้เซ็นเซอร์ต่างๆ มาต่อยอดความคิด โดยนำทฤษฎีมาใช้ร่วมกับการปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ต้นแบบนี้ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) ส่วนขับเคลื่อน ประกอบด้วยล้อและมอเตอร์อย่างละ 1 คู่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนลูกบอลให้เคลื่อนที่ในแนววิถีโค้ง 2) ส่วนยิงลูกบอล ประกอบด้วยโซลินอยด์ที่ควบคุมโดยรีเลย์ทำหน้าที่ผลักบอลเข้าสู่ส่วนขับเคลื่อน 3) ส่วนตรวจจับความเร็วประกอบด้วยอินฟาเรดเซ็นเซอร์ 2 ตัว และ 4) ไมโครคอนโทรลเลอร์ทำหน้าที่ควบคุมการสั่งงานกลไกทั้งหมด ทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถใช้การออกแบบหรือหลักคิดเดิมในการปรับเปลี่ยนความสามารถของต้นแบบหรือเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในวิชาอื่น หรือแม้กระทั่งนำความรู้ในศาสตร์ด้านหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้กับหลักสูตรการศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นสื่อการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม

หลังคารถกระบะดัดแปลงแบบมีโครงสร้างรองรับแรงกระทำจากการพลิกคว่ำตามมาตรฐาน FMVSS 220

หลังคารถกระบะดัดแปลงแบบมีโครงสร้างรองรับแรงกระทำจากการพลิกคว่ำตามมาตรฐาน FMVSS 220 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถกระบะดัดแปลงที่ใช้รับส่งนักเรียนมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของรถ ดังนี้ (1) การดัดแปลงรถกระบะที่ใช้รับส่งนักเรียนโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เช่น เสริมเก้าอี้โดยสารออกนอกตัวรถ ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันการพลัดหล่นจากรถ และติดตั้งหลังคาเข้ากับตัวรถอย่างไม่มั่นคงแข็งแรง (2) มาตรฐานรถรับส่งนักเรียนที่ประกาศโดยกรมการขนส่งทางบกยังขาดรายละเอียดทางเทคนิคที่ระบุรูปแบบการเชื่อมต่อโครงสร้าง ชนิดและขนาดวัสดุที่ใช้ รวมถึงวิธีการผลิตและติดตั้ง ทำให้ผู้ผลิตไม่มีแนวทางการออกแบบ (design guidelines) เพื่อนำไปปฏิบัติ จากปัญหาดังกล่าว มูลนิธิถนนปลอดภัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ว่าจ้างทีมวิจัยเอ็มเทคให้เสนอแนวทางการออกแบบเชิงวิศวกรรม สำหรับโครงสร้างหลังคาของรถรับส่งนักเรียนประเภทรถกระบะดัดแปลง โดยมีเป้าหมายและผลผลิตหลักเป็นแบบเชิงวิศวกรรม (technical drawings) เพื่อใช้เป็นข้อเสนอแนะในการประกาศมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกด้านมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน และเป็นแนวทางการออกแบบสำหรับอู่ผู้ผลิตหลังคารถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศ ทีมวิจัยออกแบบหลังคาสำหรับรถรับส่งนักเรียนประเภทกระบะดัดแปลง ให้มีความแข็งแรงสอดคล้องตามมาตรฐาน FMVSS 220 (School Bus Rollover Protection) โดยเลือกใช้วัสดุและวิธีการผลิตที่ผู้ประกอบการอู่ต่อหลังคาสามารถดำเนินการได้และต้นทุนต้องไม่สูงกว่าท้องตลาด ร่วมกับจัดวางโครงสร้างที่ทำให้เกิด “ซูเปอร์สตรัคเจอร์ (Superstructure)” ซึ่งเป็นโครงสร้างที่รองรับแรงกระทำที่เกิดขึ้นในกรณีรถพลิกคว่ำ จากนั้นวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้างด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ (FEM) เพื่อศึกษาการเลือกวัสดุให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และพิสูจน์ความถูกต้องของการออกแบบ (validation) ด้วยการทดสอบต้นแบบหลังคาแบบเต็มรูปแบบในระดับห้องปฏิบัติการด้วย “แท่นทดสอบการกดหลังคา” ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัย งานวิจัยนี้ทำให้ทราบวิธีการทำนายความแข็งแรงของหลังคารถกระบะได้อย่างแม่นยำ รวมถึงแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับใช้ในการประเมินระเบียบข้อบังคับที่ใช้ในการประเมินความแข็งแรงหากเกิดการพลิกคว่ำซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในระยะยาว

สารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อแปรรูปยางแผ่น (BeThEPS)

สารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อแปรรูปยางแผ่น (BeThEPS) น้ำยางพาราสดมีอายุในการเก็บรักษาสั้นเพียง 4-6 ชั่วโมง เนื่องจากแบคทีเรียจะเติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้สารอาหารในน้ำยางสด ทำให้เกิดการบูดเน่าและอนุภาคยางจับตัวเป็นก้อน จึงไม่สามารถนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นได้ ปัญหานี้พบมากในพื้นที่กรีดยางที่อยู่ห่างไกลและการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้การขนส่งน้ำยางสดไปยังจุดแปรรูปน้ำยางใช้เวลานาน นอกจากนี้ ชาวสวนยางมักเผชิญกับปัญหายางล้นตลาด จึงจำเป็นต้องยืดอายุในการเก็บรักษา เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ ชาวสวนยางแก้ปัญหาดังกล่าวโดยใช้สารเคมี เช่น แอมโมเนีย และโซเดียมซัลไฟต์ แต่แอมโมเนียมีกลิ่นฉุนรุนแรง เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่วนโซเดียมซัลไฟต์ทำให้เกิดฟองอากาศในยางแผ่น ส่งผลเสียต่อคุณภาพและราคาของยางแผ่น ทีมวิจัยของหน่วยวิจัยยาง เอ็มเทค ได้พัฒนาสารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อการแปรรูปยางแผ่น หรือ Be Thai Economic Preservative System (BeThEPS) เพื่อแก้ปัญหาการเสียสภาพของน้ำยางสดก่อนการแปรรูปเป็นยางแผ่น โดยที่สาร BeThEPS มีจุดเด่นดังนี้ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียดังเช่นแอมโมเนียและโซเดียมซัลไฟต์ ช่วยรักษาสภาพน้ำยางสดได้นาน 1-3 วัน (ขึ้นกับปริมาณสารที่ใช้) สามารถผสมเข้ากับน้ำยางสดได้ง่าย ลดความถี่ในการขนส่งน้ำยางสดไปจำหน่ายทำให้ค่าใช้จ่ายของเกษตรกรลดลง ทำให้ยางแผ่นที่ผลิตได้มีคุณภาพดีเหมาะสำหรับทำผลิตภัณฑ์ยางรถ อะไหล่รถ สายพานลำเลียง ยางปูพื้น และกาวยาง เป็นต้น ผลงานนี้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะความลับทางการค้า 2 ฉบับ ได้แก่ สูตรสารยืดอายุน้ำยางสดเพื่อการผลิตยางแผ่น และกระบวนการผลิตสารยืดอายุน้ำยางสดเพื่อการผลิตยางแผ่น […]

เครื่องจำลองการสึกกร่อนที่อุณหภูมิสูง

เครื่องจำลองการสึกกร่อนที่อุณหภูมิสูง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมีต้นทุนของราคาเชื้อเพลิงต่ำกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เชื้อเพลิงชีวมวลที่นิยมนำมาใช้ เช่น แกลบ และเปลือกไม้ มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบในปริมาณมาก ทำให้ปริมาณเถ้าลอยภายในเตาชีวมวลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ภายในเตาเผา เช่น ท่อของซูเปอร์ฮีตเตอร์ ผนังของห้องเผาไหม้ พื้นผิวการถ่ายโอนความร้อนโดยการพา อีโคโนไมเซอร์ และ แอร์พรีฮีตเตอร์ เกิดการสึกหรอ ทีมวิจัยจึงพัฒนาเครื่องจำลองการกัดกร่อนที่อุณหภูมิสูงเพื่อศึกษารูปแบบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้ใกล้เคียงกับสภาวะการใช้งานในหม้อน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ผลทดสอบที่ได้จากเครื่องจำลองต้นแบบมีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในการใช้เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ และช่วยให้เข้าใจถึงกลไกการสึกหรอที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถพิจารณาเลือกใช้วัสดุและชั้นเคลือบผิวของชิ้นส่วนในหม้อน้ำของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

1 10 11 12 13 14 26