RDC2018 Main banner

บทนำ

ปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และมีความสำคัญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ ทั้งทางด้านการแพทย์และสุขภาพ การรักษาความมั่นคงปลอดภัย การศึกษา ความบันเทิง และการเกษตร สำหรับประเทศไทยได้มีการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศเพื่อประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก และเพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์และผลักดันอย่างจริงจังเพื่อก้าวไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ในเชิงพาณิชย์

จากการสานต่อกิจกรรมการแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ (International Design Contest 2007) หรือ IDC RoBoCon 2007 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น 120 ปี โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค เมื่อปี พ.ศ. 2550 ทำให้เกิดโครงการการแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2551 และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมีนักศึกษาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน IDC RoBoCon ร่วมกับนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา บราซิล โมร็อกโก ฝรั่งเศส สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ และ ตุรกี

หน่วยงานจัด

หน่วยงานสนับสนุนหลัก

เกี่ยวกับ RDC

ความเท่าเทียม: เอกลักษณ์โดดเด่นของการแข่งขัน

แง่มุมสำคัญของการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ คือ แต่ละทีมประกอบด้วยนักศึกษาแบบคละประเทศ คละสถาบันการศึกษา มีการกำหนดโจทย์แข่งขันและกำหนดวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และงบประมาณ เพื่อให้แต่ละทีมออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

การแข่งขันระดับประเทศก็ยังคงยึดรูปแบบการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยเพิ่มเติมให้มีการอบรมความรู้ด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เข้าไปด้วย ทำให้ระยะเวลาของการแข่งขันระดับประเทศรวมแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ขณะที่การแข่งขันระดับภูมิภาคจะใช้เวลาระหว่าง 1–2 สัปดาห์ เพื่อคัดเลือกนักศึกษาตัวแทนภาคเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป

ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างสถาบัน ระหว่างประเทศ ไม่มีเงินรางวัล และทุกทีมได้รับทรัพยากรเท่าเทียมกันเช่นนี้ จึงมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดความรักและความสามัคคี และจะช่วยเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในอนาคต ทั้งระหว่างเพื่อนร่วมรุ่น อาจารย์และทีมงาน สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการศึกษาในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอันเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการของประเทศ

พัฒนาการที่สำคัญของ RDC

การแข่งขันหุ่นยนต์ RDC จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดเลือกนักศึกษาตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน International Design Contest RoBoCon: IDC RoBoCon เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโลก RDC ได้ถูกพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการจัดอย่างต่อเนื่อง การปรับเปลี่ยนหรือเหตุการณ์สำคัญ เช่น

  • การเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับอาชีวะเข้าร่วมแข่งขัน (พ.ศ. 2553)
  • การขยายขอบข่ายไปยังนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ (พ.ศ. 2554) มีการจัดตั้งหน่วยประสานงานในภูมิภาคขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อทำหน้าที่จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ RDC ระดับภูมิภาค โดยยังคงรูปแบบเหมือนกับการแข่งขันระดับประเทศ ทั้งนี้ เพื่อคัดเลือกตัวแทนระดับภูมิภาคเข้าร่วมการแข่งขันระดับประเทศ)
  • ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2016 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เป็นการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ (ครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2550)
  • ในปี พ.ศ. 2560 มีความต้องการเห็นพัฒนาการแข่งขันหุ่นยนต์ภายในประเทศตอบโจทย์ ความต้องการภายในประเทศมากขึ้น ทำให้โจทย์การแข่งขันมุ่งเน้นไปที่การทำให้เห็นภาพจริงของการนำนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ทั้งทางด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม และด้านบริการ จึงจัดให้มีการฝึกภาคสนาม การลงพื้นที่จริง ในปีนี้ได้มีการเดินทางไปทัศนะศึกษาพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูง จ. น่าน
  • ในปี พ.ศ. 2561 การจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ RDC มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอแนวคิดการพัฒนา การนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้สามารถใช้งานได้จริงโดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิตโดยได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีการนำแขนกลที่ใช้งานจริงมาเป็นส่วนหนึ่งของสนามแข่งขันครั้งนี้ด้วย

การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี การแข่งขันหุ่นยนต์ RDC ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก โปรแกรมการพัฒนากำลังคนและเยาวชนวิทยาศาสตร์ (S&T Human Resources Development) สวทช. โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ หมุนเวียนกันสนับสนุนในด้านต่างๆ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยปาร์คเกอร์ไรซิ่ง จำกัด เดอะมอลล์ นครราชสีมา เซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา บริษัท Q Mark Factory และบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) และที่สำคัญ คือ สถาบันการศึกษาที่สนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ RDC มีจำนวนกว่า 45 สถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศ และมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 1,000 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

วัตถุประสงค์โครงการแข่งขันฯ

  1. เพื่อสร้างบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การแพทย์ การทหาร และการบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  2. สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีการวางแผน ออกแบบการทำงานอย่างเป็นระบบ
  3. สนับสนุนและให้โอกาสเยาวชนในภูมิภาคได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมและได้รับการพัฒนาความรู้ทักษะ และความคิดในเวทีระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
  4. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาด้านการพัฒนาเยาวชนในระดับภาค และระดับประเทศ จนถึงระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน
  5. สร้างความตระหนักให้กับเยาวชน และประชาชนทั่วไปในวงกว้าง

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการแข่งขันฯ

  1. เยาวชนระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาทั่วประเทศ
  2. เครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาค
  3. สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
  4. เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศ
  5. ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การแพทย์ การทหาร และบริการ

กำหนดการการแข่งขันฯ

ระดับภูมิภาค แบ่งออกเป็น 3 ภูมิภาค ได้แก่

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออก วันที่ 22 – 27 พฤษภาคม 2561 โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • ภาคเหนือ วันที่ 21 – 29 พฤษภาคม 2561 โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ภาคใต้ วันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2561 โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ระดับประเทศ วันที่ 4 – 22 มิถุนายน 2561 โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

การแข่งขันชิงชนะเลิศ RDC 2018 ระดับประเทศ วันที่ 23 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ

ระดับนานาชาติ (IDC RoBoCon 2018) วันที่ 6 – 18 สิงหาคม 2561 โดย Tokyo Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น

รายชื่อตัวแทนระดับประเทศ

  • ประกาศรายชื่อนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันระดับประเทศ [.pdf]
    หมายเหตุ :
    1. นักศึกษาทุกคนจะได้รับการประกันอุบัติเหตุตลอดระยะเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม
    2. มีเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน อัตราเบี้ยเลี้ยงดังนี
      • สำหรับนักศึกษาที่มาจากต่างจังหวัด ท่านละ 120 บาทต่อวัน
      • นักศึกษาจากภาคกลาง ท่านละ 70 บาทต่อวัน (เฉพาะวันที่มีกิจกรรม)
    3. นักศึกษาที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดจะได้พักที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. พร้อมจัดรถรับ-ส่ง ที่พัก-สถานที่แข่งขัน
    4. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
      นางสาวกอบกุล อมรมงคล
      งานประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนัก ฝ่ายเผยแพร่
      เทคโนโลยีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค สวทช.)
      โทร. 02-564-6500 ต่อ 4676 มือถือ 085-353-6809

     

  • รายชื่อทีมการแข่งขันระดับประเทศ [.jpg]

 

Copyright © 2018 National Metal and Materials Technology Center.