รอบรั้วเอ็มเทค

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า นับเป็นความท้าทายอย่างมากในการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมต่างๆ ทว่าเอ็มเทคยังคงสามารถส่งมอบผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 เอ็มเทคได้ดำเนินงานและจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

เอ็มเทคกับการผลิตผลงานวิจัยและพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

HI PETE (ไฮพีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ และทีมวิจัยการออกแบบเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ได้ต่อยอดนวัตกรรม PETE หรือเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 โดยพัฒนาเป็น HI PETE หรือเต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งานและขนาดพื้นที่ น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายและประกอบติดตั้งได้ง่าย มีช่องหน้าต่างสำหรับสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าของเครื่องมือแพทย์ IEC60601-1 (electrical safety testing for medical devices) มาตรฐานการทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า IEC60601-1-2 (electromagnetic compatibility) และมาตรฐานห้องสะอาด ISO14644 (cleanrooms and associated controlled environments) และได้รางวัลนวัตกรรมเเห่งชาติ ประจำปี 2565 รองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

HI PETE ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยได้ส่งมอบให้แก่ เทศบาลเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร, โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ จังหวัดกรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร

M-Wheel


ดร.ดนุ พรหมมินทร์ และทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พ่วงต่อ M-Wheel เพื่อปรับรถเข็นธรรมดาให้เป็นรถเข็นไฟฟ้า โดยใช้พลังงานจากการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มด้วยแรงดันไฟฟ้า  M-Wheel ผ่านการประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า การป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์การแพทย์โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC สวทช.)

M-Wheel เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เพราะใช้งานง่าย ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาผู้อื่น และลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าจ้างดูแล การพัฒนา M-Wheel ทำให้เกิดความรู้ด้านการออกแบบและการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เกิดเครือข่ายการผลิตกับภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ช่างในชุมชน/นักศึกษาอาชีวะของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผ่านโครงการ Smart Tambon Model ในพื้นที่นำร่อง 7 ตำบล 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สระบุรี และชุมพร

Flow Tester และ Fork Tester

 

ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส และทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง วิจัยและพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ Flow Tester และ Fork Tester สำหรับใช้ทดสอบความหนืดของเครื่องดื่ม และเนื้อสัมผัสของอาหารสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก ตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative (IDDSI) ทั้งนี้ เครื่องที่พัฒนาขึ้นช่วยเพิ่มความแม่นยำและความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์มีน้ำหนักเบาสามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งได้ส่งมอบต้นแบบและจัดอบรมการใช้งานอุปกรณ์ให้แก่โรงพยาบาล 10 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลศรีนครินทร์, สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, โรงพยาบาลวิมุต และโรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

ดร.นพดล เกิดดอนแฝก และทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) พัฒนาฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ฟิล์มมีความโดดเด่น 3 ด้านหลัก คือ มีความบางใส ต้านทานการเกิดฝ้า และช่วยยืดอายุผักสลัดจากเดิม 3 วัน เป็น 5 วัน โครงการนี้ช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตให้แก่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Magik Growth

 

ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ และทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ได้วิจัยและพัฒนา       Magik Growth ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยนำความรู้ด้านวัสดุศาสตร์มาพัฒนาสูตรผสมเม็ดพลาสติกร่วมกับเทคโนโลยีการขึ้นรูปนอนวูฟเวน เพื่อให้วัสดุนอนวูฟเวนมีสมบัติให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้ง่าย สามารถคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสมกับเซลล์รับแสงที่ผิวผลไม้ ช่วยให้ผลไม้สร้างสารสำคัญ เช่น แป้ง น้ำตาล วิตามิน รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ได้ดี เป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพไม้ผลและช่วยลดต้นทุนได้

ผลงานนี้ได้ขยายผลไปยังชาวสวนทุเรียนเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ พบว่า Magik Growth ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวสวน ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือแบบจตุภาคีเพื่อหวังให้เกิดการบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนทุเรียน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งมีความรู้ในการพัฒนาสวนบนฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์และยั่งยืน

เอ็มเทคกับความร่วมมือกับพันธมิตร

การขับเคลื่อนค่ากลางคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศไทย

 

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อํานวยการเอ็มเทค และทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เข้าร่วมประชุมร่วมกับนายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม และสมาชิกกลุ่มอะลูมิเนียม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมเอ็มเทค จังหวัดปทุมธานี เพื่อจัดทำค่ากลางคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตลอดจนการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม (LCA) เพื่อเตรียมรับมือกับมาตรการปรับราคาคาร์บอน เพื่อให้สามารถข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า

เอ็มเทคได้จัดประชุมความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารเอ็มเทค จังหวัดปทุมธานี เพื่อหาแนวทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และแนวทางการนำงานวิจัยมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า การประชุมร่วมกันครั้งนี้จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาร่วมกันในโครงการที่หลากหลายในอนาคต

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

 

เอ็มเทคและศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ซัมมิท อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ในการผลักดันอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ลดการนำเข้าหรือพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างความเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน

เอ็มเทคกับการบ่มเพาะเยาวชนไทยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โครงการนักเรียนระดับมัธยมปลายและครูวิทยาศาสตร์ ฝึกทักษะวิจัยภาคฤดูร้อน ปี 2565

 

เอ็มเทคจัดโครงการนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและครูวิทยาศาสตร์ ฝึกทักษะวิจัยภาคฤดูร้อน ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม ถึง 5 พฤษภาคม 2565 เพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศ ผู้เข้าร่วมจำนวน 33 คน จาก 26 โรงเรียนทั่วประเทศได้พบปะนักวิจัยพี่เลี้ยงจากกลุ่มวิจัยต่างๆ เพื่อฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการของเอ็มเทค

โครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ปี 2565 : The 14th Thailand Robot Design Camp: RDC 2022

 

เอ็มเทคร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดโครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ปี 2565: The 14th Thailand Robot Design Camp: RDC 2022 หัวข้อ “มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” โดยมีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 65 คน จาก 9 สถาบัน ซึ่งต่อมามีการคัดเลือกตัวแทนจากประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติในงาน IDC RoBoCon 2022

เอ็มเทคกับการเปิดบ้านต้อนรับแขกคนสำคัญ

คณะผู้บริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และคณะจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

 

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค ต้อนรับ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และคณะผู้บริหาร พร้อมทั้งคณะจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 โดยพาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีพลังงาน (ENTEC), ห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีวัสดุ (MTEC), ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) รวมถึงเดินทางไป บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

การยางแห่งประเทศไทยและพันธมิตร

 

ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ และทีมวิจัยวิศวกรรมยางขั้นสูง หน่วยวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ต้อนรับประธานกรรมการ และรองผู้ว่าการฯ การยางแห่งประเทศไทย, ประธานชุมนุมกลุ่มสหกรณ์จังหวัดระยอง และประธานกรรมการกลุ่มบริษัทอินโนเวชั่น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยอง โรงงานรมควันยางพารา อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

การเยี่ยมชมครั้งนี้ได้สาธิตการทำงานของต้นแบบเครื่องจับตัวน้ำยางสดด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้นแบบโรงอบยางประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน อีกทั้งนำเสนอการพัฒนาต่อยอดเครื่องจักรและไลน์การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต รวมถึงเทคโนโลยีการอบยางที่มีระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักร เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตยางพาราขั้นกลางน้ำของประเทศต่อไป

National Institute for Materials Science (NIMS) ประเทศญี่ปุ่น

 

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค และ ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ให้การต้อนรับ Dr.Tsuchiya Koichi ผู้บริหารจาก NIMS ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 การพบปะในครั้งนี้เพื่อหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุโลหะ พร้อมนำชมห้องปฏิบัติการวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ และห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่

คณะนักเรียนโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์

นางสาวฮาซียะห์ แวหามะ และนางสาวสุธิมา สุขอ่อน ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี ร่วมกับบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ต้อนรับคณะนักเรียนในโครงการฯ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต จำนวน 30 คน ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ณ อาคารเอ็มเทค การเยี่ยมชมครั้งนี้ได้แนะนำเอ็มเทคและผลงานเปล PETE ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี AR จำลองการใช้งานและติดตั้งจากพื้นที่เสมือนจริง

คณะจาก Nanoscience & Quantum Information Science และ Office of Naval Research Global (ONR), สำนักงานโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ คณะผู้บริหาร และทีมวิจัยเอ็มเทค ต้อนรับ Dr.Chagaan Baatar, Science Director, Nanoscience & Quantum Information Science และคณะจาก ONR เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 โดยได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและผลงานเอ็มเทค เช่น ห้องปฏิบัติการ Metal Injection Molding (MIM) ผลงานวิจัยยางล้อเรเดียลรถยนต์บรรทุกขนาดเบา และยางล้อไม่ใช้ลมและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและหาแนวทางสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาที่สามารถดำเนินการร่วมกันได้ในอนาคต

คณะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ดร.สมพงษ์ ศรีมโนเสาวภาคย์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตวัสดุผง และนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง ให้การต้อนรับคณะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 โดยคณะนักศึกษาได้เข้าเยี่ยมชมเอ็มเทค ฟังการบรรยายหัวข้อ “นวัตกรรมโฟมอะลูมิเนียมแผ่นซับเสียง” และชมผลงานด้านวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ เม็ดวัสดุมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock),  จีโอโพลิเมอร์ (geopolymer) วัสดุก่อสร้างที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งอุตสาหกรรม, แผ่นพื้นยางมะตอยสำเร็จรูป (Bicbok), ผลิตภัณฑ์แผ่นพื้นยางพารา (Para Walk) เพื่อลดการบาดเจ็บ, ผงสีและผิวเคลือบสะท้อนรังสีอาทิตย์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน, น้ำยางพาราข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมาก (Ultra-low Ammonia, ULA) สำหรับทำผลิตภัณฑ์โฟมยางและผลิตภัณฑ์ Para AC และสาธิตชุดบ่อบำบัดน้ำ (ไส้กรองน้ำเซรามิกคอมโพสิต)

คณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ คณะผู้บริหาร และทีมวิจัย เอ็มเทค ต้อนรับคณะกรรมการบริหารฯ ที่มาเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ณ อาคารเอ็มเทค โดยได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัย และศึกษาการปฏิบัติงานภายในเพื่อกำหนดแนวทางในการวิจัยและพัฒนาในอนาคต

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

Print Friendly, PDF & Email