รถส่งของบังคับทางไกล “อารี”

943 Views

> ต้นแบบสาธาณประโยชน์​

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  ประเทศไทยโดยกรมควบคุมโรครายงาน ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564 ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันมากกว่า 3,000 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในทุกวัน ในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 โรงพยาบาลหลายแห่งจำเป็นต้องจัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจและโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การดูแลกลุ่มผู้ป่วยโดยเฉพาะ และทุกครั้งที่บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment, PPE) ซึ่งจำเป็นต้องกำจัดทิ้งหลังการเข้าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจทุกครั้งทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ทั้งนี้การใช้รถขนส่งของบังคับทางไกล (remote controlled cart) ในการขนส่งสัมภาระแทนบุคลากรทางการแพทย์จะช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมถึงลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย 

การศึกษาข้อมูลสำรวจตลาดระบุว่า รถเข็นขนส่งของที่สามารถเคลื่อนที่ได้แบบไม่ต้องมีคนบังคับที่ใช้งานในระดับอุตสาหกรรมไม่เหมาะสมกับการใช้งานในบริบทของพื้นที่ในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เพราะต้องมีเส้นให้รถเข็นเคลื่อนที่ตาม หรือต้องสร้างแผนที่ดิจิทัลเพื่อช่วยกำหนดเส้นทางการเคลื่อนที่ อีกทั้งยังมีราคาสูงประมาณ 250,000 บาท ส่วนอุปกรณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเฉพาะ เช่น โครงการหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” ซึ่งถูกออกแบบเน้นเป็นลักษณะรถเข็นเฉพาะที่ระยะไกลผ่านกล้องที่สามารถติดตั้งแทบเล็ต (tablet) เพื่อช่วยสื่อสารก็ยังใช้งานยาก ไม่สะดวกในการขนสิ่งของ อีกทั้งราคายังสูงถึง 50,000 บาท ส่วนการใช้รถบังคับวิทยุของเล่นมาประยุกต์ใช้แม้ว่าจะมีราคาถูกคือแค่ไม่กี่พันบาท แต่ก็ไม่ทนทาน ไม่สามารถทำความสะอาดได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นอันตรายเพราะอาจรบกวนการทำงานของอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้

คณะวิจัยจึงดำเนินโครงการออกแบบและพัฒนาต้นแบบรถขนส่งของบังคับทางไกล หรือ “อารี” ขึ้นภายใต้แนวคิดBaukastenentwicklung หรือ การพัฒนาจากชิ้นส่วนที่มีอยู่ในแล้วในท้องตลาดเพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงและหาชิ้นส่วนได้ สามารถสร้างหรือประกอบได้สะดวกรวดเร็ว (design for manufacturing) มีราคาถูก มีความทนทาน และใช้งานได้ดีโดยใช้กระบวนการออกแบบให้ตรงความต้องการของผู้ใช้งานและปลอดภัย ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมาก เนื่องจากต้องตอบโจทย์ที่หลากหลายรวมถึงข้อจำกัดทางด้านราคาอีกด้วย 

ต้นแบบที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ได้ผ่านการออกแบบ พัฒนา และปรับแก้จนเป็นที่น่าพอใจ โดยต้นแบบมีราคาที่เหมาะสม (ประมาณ 13,000 บาท) ทั้งยังผ่านการทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกด้วย จากการทดสอบใช้งาน “อารี” ในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจที่โรงพยาบาลกลางและสถาบันประสาทวิทยาพบว่า สามารถประหยัดชุด PPE ได้จำนวน 6-10 ชุดต่อวัน (ราคาชุด PPE ประมาณ 500 บาทต่อชุด) รวมถึงสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและความเครียดจากความเหนื่อยล้าได้ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ใช้รถส่งของบังคับทางไกล  “อารี” แล้วจำนวน 85 แห่ง และยังมีโรงพยาบาลอีกกว่า 100 แห่งที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้

ทีมวิจัย

ดร. ก่อเกียรติ เศษชัยชาญ, ดร. สิทธา สุขกสิ, เอนก ภู่จำนง, สุรชัย รอดสาย และฝอยฝน ศรีสวัสดิ์