เคเบิลสเปเซอร์ต้นแบบผิวเรียบกัน UV

1,487 Views

ปัญหาเกี่ยวกับอายุการใช้งานของเคเบิลสเปเซอร์ชนิดโพลิเอทีลีนได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของระบบจ่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จึงเกิดโครงการวิจัยเพื่อปรับปรุงคุณภาพเคเบิลสเปเซอร์ชนิดโพลิเอทีลีน โดยออกแบบเคเบิลสเปเซอร์ขึ้นมาใหม่ เลือกวัสดุที่เหมาะสม และปรับปรุงกระบวนการผลิตเคเบิลสเปเซอร์ เพื่อสร้างต้นแบบของเคเบิลสเปเซอร์จากนั้นจึงทดสอบการใช้งานจริงเป็นระยะเวลา 480 วัน ในพื้นที่สามแห่ง ได้แก่ พื้นที่ที่มีไอเกลือและแดดจัด บริเวณเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ที่มีฝุ่นมลภาวะสูง บริเวณอำเภอหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และพื้นที่ที่มีความชื้นสูงบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ 

ผลการวิจัยพบว่าหลังจากติดตั้งใช้งานเป็นเวลา 360 วัน สมบัติทางกลของเคเบิลสเปเซอร์แบบเดิมชนิดที่ใช้อยู่ในระบบของ กฟภ. มีค่าลดลง และเกิดการเสื่อมสภาพจากแสงแดดอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เคเบิลสเปเซอร์ต้นแบบไม่พบการเสื่อมสภาพจากแสงแดด การรับแรงดึงสูงสุดของเคเบิลสเปเซอร์ต้นแบบมีค่าคงที่ ส่วนอัตราการลามไฟได้มีการปรับปรุงสมบัติของวัสดุที่ใช้ทำให้เคเบิลสเปเซอร์ต้นแบบมีอัตราการลามไฟลดลง 16% เมื่อเปรียบเทียบกับเคเบิลสเปเซอร์แบบเดิม   ทั้งนี้สมบัติทางไฟฟ้าหลังจากการใช้งานจริง 360 วันของเคเบิลสเปเซอร์ทุกชนิดที่ทดสอบ ยังคงผ่านเกณฑ์ที่กำหนดในทุกพื้นที่ที่ทำการทดสอบ

ทีมวิจัย

ดร.วุฒิพงษ์ รังษีสันติวานนท์, ดร. ปิยวิทย์ คุ้มพงษ์, ดร. บรรพต ไม้งาม, ดร. ฤทธิรงค์ พฤฑฒิกุล, ดร. บงกช หะรารักษ์, ดำรงค์ ถนอมจิตร, ณัชชา ประกายมรมาศ และสัญญา แก้วเกตุ