บทสรุปการบริหาร​งาน 8 ปี

เอ็มเทคภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติคนที่ 4 และคณะ (พ.ศ.2559-2566)

เอ็มเทคมุ่งพัฒนาและสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีวัสดุให้แก่ภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนากำลังคน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรมทั้งหมดนี้ร้อยเรียงในมิติต่างๆ ทั้งความเป็นเลิศทางวิชาการ (excellence) การตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ประเทศและความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ (relevance) การสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความสามารถในการแข่งขัน (impact) รวมถึงการเป็นที่ยอมรับในเชิงคุณภาพและความเชี่ยวชาญ (visibility) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศ

1. ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล
ผู้อำนวยการ
2. ดร.อารี ธนบุญสมบัติ
รองผู้อำนวยการ
3. ดร.กฤษดา ประภากร
รองผู้อำนวยการ

4. คุุณศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ
รองผู้อำนวยการ ด้านบริหาร (ต.ค. 2558-ก.ย. 2565)

5. คุุณดุุษฎี เสียมหาญ
รองผู้อำนวยการ ด้านบริหาร (ต.ค. 2565-พ.ค. 2566)

ภาพรวมแนวทางการบริหาร

ก่อนหน้าที่ทีมบริหารจะเข้ามารับหน้าที่ บุคลากรเอ็มเทคได้สั่งสมความรู้และทักษะความสามารถด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีวัสดุและการผลิตจากการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนมายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้เห็นทิศทางของประเทศในภาคส่วนต่างๆ เช่น การผลิต เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และคุณภาพชีวิต ด้วยเหตุนี้ทีมบริหารจึงพยายามนำขีดความสามารถของบุคลากร รวมถึงศักยภาพด้านวิศวกรรมและการออกแบบ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเอ็มเทคมาสร้างสรรค์ผลงานที่มีความร้อยเรียงในมิติผลผลิต (output)-ผลลัพธ์ (outcome)-ผลกระทบ (impact) ที่สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ใช้ประโยชน์

ทีมบริหารได้พัฒนากระบวนการทำงาน โดยวางแผนการวิจัยเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ มีการนำภาพแผนการพัฒนาเทคโนโลยีงานวิจัยและการส่งมอบ (technology/research s-curve) มาเป็นเครื่องมือในการบริหารงานวิจัยเพื่อให้เห็นภาพรวมการวิจัยและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของหน่วยงาน การจัดสรรทรัพยากร และการวางแผนการทำงาน โดยสร้างความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มสนับสนุนการวิจัยให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งองคาพยพ เพื่อให้กระบวนการวางแผนการใช้ประโยชน์ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและมีความชัดเจนขึ้น

สำหรับกระบวนการทำงาน เพื่อผลักดันงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์นั้น ทีมบริหารได้วางประเด็นวิจัยที่สำคัญ โดยดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้งานวิจัยมุ่งเน้น (MTEC Mission-driven Themes) เพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ในขณะเดียวกัน สวทช. มีนโยบายให้เกิดการดำเนินงานวิจัยด้านเทคโนโลยีฐานร่วมกันระหว่างศูนย์แห่งชาติ โดยคัดเลือกประเด็นวิจัยที่ใช้องค์ความรู้พื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาภายในศูนย์แห่งชาติมาดำเนินงานร่วมกันภายใต้โปรแกรมเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการ (integrated platform technology) รวมถึงงานวิจัยระดับแนวหน้า (frontier research) เพื่อเป็นรากฐานของการค้นพบสิ่งใหม่ที่นำไปสู่ความเป็นเลิศ โดยเอ็มเทคได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนงานวิจัยระดับแนวหน้านี้ภายใต้โปรแกรม Frontier Research: Exoskeleton

นอกจากนั้น ทีมบริหารยังคงดำเนินงานวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมด้านการสังเคราะห์ การผลิต การวิเคราะห์ทดสอบ และวิศวกรรมการออกแบบ ภายใต้โปรแกรมเทคโนโลยีฐานด้านเทคโนโลยีวัสดุ ตลอดจนการบ่มเพาะเทคโนโลยีฐานใหม่ (new platform) ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ (additive manufacturing), งานเชื่อมวัสดุต่างชนิดกัน (dissimilar materials joining) และยางธรรมชาตินำไฟฟ้า (conductive natural rubber)

แนวคิดการบริหารเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุด

  • งานวิจัยมุ่งเน้น

งานวิจัยมุ่งเน้นเป็นการผสานศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุหลายแขนงเข้าด้วยกัน โดยในปีงบประมาณ 2559 บุคลากรเอ็มเทคได้ร่วมกันจัดทำเป้าหมายการขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อกำหนดทิศทางของงานวิจัยมุ่งเน้นและมีแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) โดยเน้นประเด็นวิจัยที่มีความต้องการจากผู้ใช้ประโยชน์ (market pull) หรือเป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งสามารถระบุเป้าหมายการขับเคลื่อนจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่

  • Materials and Machinery for Sustainable Agriculture (Food): มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และคุณภาพผลิตผลทางการเกษตร
  • Materials and Machinery for Sustainable Agriculture (Non Food): มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรม เพื่อปฏิรูปเทคโนโลยีการผลิตน้ำยางข้นที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีและสารก่อภูมิแพ้ ตลอดจนกระบวนการผลิตยางแห้งแบบครบวงจร และการประยุกต์ใช้ยางพาราในประเทศอย่างยั่งยืน
  • Materials Solution for Better Living & Security (Construction): มุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุก่อสร้าง โดยสร้างขีดความสามารถในการออกแบบวัสดุ (material modeling) และทำนายสมบัติ ผ่านกระบวนการใช้แบบจำลองไฟไนต์เอลิเมนต์ และพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุเพื่อบำบัดหรือกำจัดสารมลพิษในสภาพแวดล้อม ผ่านการพัฒนาวิธีการตรวจสอบอย่างรวดเร็ว (SMARTest) เพื่อตรวจสอบและติดตามสารมลพิษในสภาวะแวดล้อม ชิ้นส่วนวัสดุ และผลิตภัณฑ์
  • Materials Solution for Better Living (Health & Hygiene): มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับสังคมสูงวัยด้วยอาหาร และกายอุปกรณ์ที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล
  • Technology for Smart Mobility: มุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุ วิศวกรรมการออกแบบ และกระบวนการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อยกระดับการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย ทั้งในด้านชิ้นส่วนยานยนต์ (ได้แก่ โครงสร้างน้ำหนักเบา และยางล้อ) และแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง

งานวิจัยมุ่งเน้นข้างต้นทำให้เอ็มเทคมีโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (emerging technologies) ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น งานเชื่อมวัสดุต่างชนิดกันสำหรับผลิตโครงสร้างยานพาหนะ, เทคโนโลยีการทำนายและออกแบบวัสดุก่อสร้าง โดยการจำลองเชิงคำนวณจะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการผลิต (processing) โครงสร้าง (structure) สมบัติ (properties) และสมรรถนะการใช้งาน (performance) สอดคล้องกับหลักการ PSPP ซึ่งสามารถใช้ทำนายสมบัติของวัสดุใหม่ได้ และเทคโนโลยีการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุสำหรับการขึ้นรูปโครงสร้างขนาดใหญ่ การพิมพ์ขึ้นรูปโลหะสามมิติที่ต้องเผาผนึก การเชื่อมเติมเนื้อ 3 มิติ และวัสดุฟังก์ชัน เช่น ยางธรรมชาตินำไฟฟ้าสำหรับใช้เป็นเซ็นเซอร์ หรือคอมโพสิตโพลิเมอร์ที่มีสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น งานวิจัยมุ่งเน้นไม่เพียงสร้างความรู้ ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ให้แก่บุคลากรสายวิจัย แต่ยังสร้างโอกาสในการทำงานข้ามกลุ่มวิจัยด้วย

  • งานเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการ

งานเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการ เป็นการดำเนินงานวิจัยระยะสั้น (3-5 ปี) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ในระยะยาว ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีฐานที่มีการบูรณาการการทำงานและองค์ความรู้ในหลากหลายสาขา ทั้งสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นองค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และ/หรือต้นแบบที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคตที่สามารถตอบโจทย์ประเด็นวิจัยมุ่งเน้น หรือโจทย์วิจัยระดับประเทศต่อไป

งานเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการนี้สนับสนุนการวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัย สวทช. อย่างน้อย 2 ศูนย์ โดยสร้างสภาวะแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันภายใต้สาขาเทคโนโลยี ดังนี้ วัสดุฐานชีวภาพ (bio-based materials), เซ็นเซอร์ (sensors) และคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและการวิเคราะห์ข้อมูล (HPC & data analytics)

สาขาเทคโนโลยีที่เอ็มเทคได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ คือ เทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการสาขาวัสดุฐานชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) เทคโนโลยีการพัฒนาสารเติมแต่งที่มีสมบัติเฉพาะจากสารธรรมชาติ (functional additives) 2) เทคโนโลยีการดัดแปรสารธรรมชาติเพื่อนำไปใช้เป็นสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (functional ingredients) 3) เทคโนโลยีการนำชีวมวลหรือวัสดุจากธรรมชาติมาผลิตเป็นสารตั้งต้นที่มีสมบัติเฉพาะสำหรับขึ้นรูปเป็นเส้นใยอุตสาหกรรม (value added from biomass) และ 4) เทคโนโลยีการย่อยสลายวัสดุโดยใช้จุลินทรีย์ในธรรมชาติและจุลินทรีย์ดัดแปลง (biodegradation of materials)

ภาพรวมโครงการของการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการสาขาวัสดุฐานชีวภาพ ประกอบด้วย 3 ชุดโครงการ และ 1 โครงการเดี่ยว ได้แก่ ชุดโครงการ: กระบวนการผลิตโคโพลิเมอร์จาก D-lactic acid เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสารเติมแต่งศักยภาพสูง ชุดโครงการ:การพัฒนากระบวนการผลิตลิกนินจากชีวมวลเพื่อประยุกต์ใช้ในการขึ้นรูปเส้นใยคาร์บอน ชุดโครงการ: การศึกษาจุลินทรีย์ย่อยสลายยางธรรมชาติ และโครงการเดี่ยว: การดัดแปรเพคตินจากเปลือกส้มโอส่วนขาวและการนำไปใช้เป็นสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่

ตัวอย่างงานวิจัยที่แม้ไม่ใช่งานเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการ แต่เป็นการทำงานร่วมกันของเอ็มเทคกับเนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ในการทำวิจัยขั้นแนวหน้า ภายใต้หัวข้อเอ็กโซสเกเลตันคือ การพัฒนาชุดบอดี้สูทที่ช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้สูงอายุที่แอกทีฟที่ใช้ข้อมูลมาตรฐานรูปร่างของผู้หญิงไทยสูงอายุที่เนคเทคพัฒนา นอกจากนี้ ทีมวิจัยเนคเทคยังได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการอ่านสัญญาณสมอง ซึ่งในอนาคตอาจมีการผสานความรู้นี้ในการพัฒนาชุดสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถขยับตัวได้ แต่สมองยังสามารถสั่งการได้ โดยนำสัญญาณสมองมาใช้ในการสั่งชุดให้เคลื่อนไหวตามที่ผู้สวมใส่ต้องการได้ เป็นต้น

ประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนางานเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการ นอกจากจะได้สร้างความร่วมมือกับบุคลากรภายใน สวทช. ในหลากหลายสาขาแล้ว ยังสามารถสร้างองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรมได้ และเนื่องจากประเด็นวิจัยของงานเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการเกิดจากกระบวนการคิดแบบมุ่งเป้าสู่ผลลัพธ์ (outcome oriented thinking) จึงทำให้งานวิจัยมีศักยภาพที่จะต่อยอดกับภาคเอกชนได้ในอนาคต

  • แผนการพัฒนาเทคโนโลยีงานวิจัยและการส่งมอบ

แผนการพัฒนาเทคโนโลยีงานวิจัยและการส่งมอบเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารงานวิจัยเพื่อให้เห็นภาพรวมการวิจัยและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของหน่วยงาน การจัดสรรทรัพยากร และการวางแผนการทำงานไปถึงการนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งเน้นที่ผลลัพธ์เป็นหลัก

ในการวางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีงานวิจัยและการส่งมอบ ทีมผู้บริหารมีแนวทางให้มองที่เป้าหมายสูงสุด (ultimate goal) ก่อน จากนั้นจึงวางแผนการดำเนินงานเป็นขั้นตอนตามระยะเวลาที่วางไว้คล้ายกับการทำแผนที่นำทาง (roadmap) แต่การทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยีงานวิจัยและการส่งมอบยังแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานนั้นอยู่ในขั้นใด เช่น ขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น (ground work) ขั้นตอนการพัฒนา (development) หรือ ขั้นตอนที่พร้อมไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ (utilization)

ทั้งนี้การวางแผนในลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามกาลเวลา และปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาในภายหลัง ทำให้แผนการทำงานมีความทันสมัยอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี การทำงานเพื่อไปถึงเป้าหมายสูงสุดนั้นอาจพบอุปสรรคที่องค์ความรู้เดิมที่มียังไม่อาจแก้ปัญหาได้ ก็อาจย้อนกลับมาเพื่อศึกษาเชิงลึกและสร้างองค์ความรู้ใหม่สำหรับใช้ในการพัฒนาแบบยกระดับเพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดให้ได้

ตัวอย่างการใช้แผนการพัฒนาเทคโนโลยีงานวิจัยและการส่งมอบ เช่น การวิจัยเทคโนโลยีเอ็กโซสเกเลตัน (exoskeleton) สำหรับใช้งานบนร่างกายมนุษย์ ทีมวิจัยที่พัฒนางานนี้ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญด้านเชิงกล (mechanics) หรือแมคคาทรอนิกส์ (mechatronics) แม้ทีมจะสามารถออกแบบเครื่องจักรกลได้ดี ซึ่งเป็นงานปลายทาง แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกายมนุษย์ได้ เนื่องจากยังขาดความเชี่ยวชาญด้านกายวิภาคศาสตร์ (anatomy) ดังนั้น ในการทำงานจึงต้องย้อนกลับมาต้นทางเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งอาจเป็นการเสริมทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้านกายวิภาค และทีมที่เชี่ยวชาญด้านการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ในการจำลองการทำงานของกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการเคลื่อนไหว และกระดูก (musculoskeletal modelling) เพื่อเชื่อมโยงระหว่างงานต้นทางและปลายทางซึ่งจะช่วยยกระดับผลลัพธ์ที่ปลายทาง นอกจากนี้ ยังสามารถย้อนกลับมาพัฒนางานวิจัยพื้นฐานที่ต้นทาง เช่น การพัฒนายางให้มีสมบัตินำไฟฟ้าสำหรับใช้เป็นเซ็นเซอร์ในซอฟต์สูท (soft suit) ก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาไปสู่โจทย์ใหม่ๆ ที่สร้างนวัตกรรมได้ เป็นต้น

  • กลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์

ผลงานที่เอ็มเทควิจัยและพัฒนาขึ้นตั้งแต่อดีตและต่อไปในอนาคตจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างครอบคลุมในกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและการบริการทางวิศวกรรม, ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต, สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม และเกษตรกรรม รวมถึงผลผลิตด้านพลังงาน และด้านเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์ยังมีส่วนในการกำหนดการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับการใช้งานได้มากขึ้น กล่าวคือแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเดียวกัน แต่การนำไปใช้ประโยชน์ในกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีหรือกระบวนการผลิตอาจมีความแตกต่างกันได้ เช่น เทคโนโลยีการผลิตนอนวูเวน (non-woven) ที่ใช้ในภาคการเกษตรจะแตกต่างจากนอนวูเวนที่ใช้ในวงการแพทย์ เป็นต้น

  • กระบวนการบริหารการวิจัยที่สอดรับกับแหล่งทุน

ในปีงบประมาณ 2563 มีการปฏิรูปงบประมาณ โดยจัดสรรงบประมาณผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) แทนการจัดสรรโดยตรงจากสำนักงบประมาณ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการบริหารภายในเอ็มเทค โดยมีการพัฒนากระบวนการบริหารการวิจัยให้สอดรับกับแหล่งเงินภายนอกและระบบงบประมาณวิจัยของประเทศ

ทีมบริหารได้สร้างความตระหนักด้านสถานการณ์ทางการเงินล่วงหน้าให้แก่บุคลากรสายวิจัยและสายสนับสนุนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับไปทั้งองคาพยพ นอกจากนี้ ยังใช้โอกาสในการที่ สวทช. เป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ปรับแผนงานต่างๆ ตามศักยภาพที่มีให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของแหล่งทุนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

บุคลากรสายวิจัยเอ็มเทคจึงมีการปรับตัวโดยการสร้างเครือข่ายวิจัยร่วมกับพันธมิตรเป้าหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในการพัฒนาโจทย์วิจัยที่มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยประยุกต์ (applied research) หรืองานวิจัยพื้นฐาน (fundamental research) หรือการรับจ้างวิจัย ตลอดจนการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญที่ชัดเจน เพื่อสร้างโอกาสในการขอสนับสนุนงบประมาณวิจัย

บุคลากรสายสนับสนุนก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน เช่น ฝ่ายพัฒนาธุรกิจจากเดิมที่เน้นงานรับจ้างวิจัยกับหน่วยงานภาคเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจก็ขยายฐานแหล่งทุนไปยังกองทุน ววน. ส่วนฝ่ายบริหารเทคโนโลยีฐานและสนับสนุนการวิจัยที่เดิมทำหน้าที่ให้ทุนก็ปรับเปลี่ยนมามีบทบาทด้านกลยุทธ์มากขึ้น โดยช่วยสนับสนุนบุคลากรสายวิจัยในการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ หรือฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและพันธมิตรร่วมวิจัยก็มีการสร้างเครือข่ายและหาแหล่งทุนในต่างประเทศให้แก่บุคลากรสายวิจัยด้วย

ตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับแหล่งทุน เช่น

(1) โครงการที่เอ็มเทคดำเนินงานร่วมกับเอ็นเทค (ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ) และเนคเทค เพื่อขอทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environmental Facility fund, GEF) ได้แก่ โครงการการมุ่งลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก (carbon emission) จากการขนส่งในภาคการท่องเที่ยว โดยพยายามรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำความรู้ในหลากหลายสาขาของบุคลากร สวทช. มาประยุกต์ใช้ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาโครงการใหญ่ๆ ที่สามารถขอทุนจากต่างประเทศได้

(2) โครงการที่เอ็มเทคทำงานร่วมกับหน่วยงานที่วางกฎระเบียบ ผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด แต่หน่วยงานเหล่านี้ยังขาดเทคโนโลยี ซึ่งเอ็มเทคสามารถไปเสริมเป็น “Technical arms” ให้แก่หน่วยงานเหล่านั้นได้ เช่น การร่วมมือกับกรมขนส่งทางบกทำโครงการความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นต้น

(3) โครงการที่เอ็มเทคมีส่วนร่วมในเชิงเทคโนโลยีให้แก่กรมควบคุมมลพิษ เพื่อจัดทำทำเนียบสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants, POPs) และร่างแผนการจัดการระดับชาติเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์ม อีกทั้งพัฒนา SMARTest ที่เป็นวิธีการวิเคราะห์สาร POPs ให้เร็วขึ้น และได้ข้อมูลมากขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการตั้งค่าเป้าหมายในการจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน และดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (Data-driven Policy)

  • การวิจัยและพัฒนาเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0

อุตสาหกรรม 4.0 เป็นแนวโน้มใหญ่ของภาคการผลิตที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เอ็มเทคได้ดำเนินการตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นตามการใช้งานเป็นหลัก (application-pull) เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตตามหลักของ QCD คือด้านคุณภาพ (Quality) ต้นทุน (Cost) และเวลาในการส่งมอบ (Delivery time) โดยใช้องค์ความรู้ที่มีในการยกระดับ

เทคโนโลยีที่เอ็มเทคมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาโซลูชั่นทางอุตสาหกรรมด้านระบบอัตโนมัติสำหรับกระบวนการผลิต การพัฒนาระบบอัตโนมัติสำหรับงานด้านเครื่องจักรกลการเกษตร การพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับใช้งานในด้านต่างๆ การวิเคราะห์ข้อมูลจากกระบวนการหล่ออะลูมิเนียมแบบอัตโนมัติ เพื่อควบคุมกระบวนการด้วยสถิติ (Statistical Process Control, SPC)

  • การบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอ

การบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอเป็นแนวทางการบริหารเรื่องงาน-เงิน-คน เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ กล่าวคือ สามารถผลิตและส่งมอบผลงาน รวมถึงสามารถสร้างรายได้กลับเข้าองค์กรได้

ก่อนการใช้การบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโออย่างเป็นระบบแบบรายบุคคล เอ็มเทคใช้การมองในภาพรวมทั้งองค์กร แต่เนื่องจากช่วงเวลาในการพิจารณาอยู่ในไตรมาสท้ายๆ ของปีงบประมาณ จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ทันท่วงที ดังนั้น ทีมบริหารจึงให้ความสนใจกับการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอแบบรายบุคคลอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565-2566) จะมีการพิจารณาพอร์ตฟอลิโอเป็นประจำทุกเดือนในทุกระดับชั้น ซึ่งช่วยให้แก้ปัญหาหรือยกระดับได้ถูกจุด ทำให้สามารถควบคุมทุกอย่าง โดยเฉพาะรายได้ให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้

  • กลไกการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่สร้างผลกระทบและการลงทุนระดับสูง

ภายหลังจากที่ห้องปฏิบัติการประเมินวัฏจักรชีวิต ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ความเสียหายและการกัดกร่อนของวัสดุ และหน่วยวิจัยวัสดุสำหรับพลังงาน ซึ่งเคยอยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารของเอ็มเทคแยกตัวไปเป็นสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ และศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ตามลำดับ ทำให้มูลค่าผลกระทบของเอ็มเทคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ของหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจน้ำมันและพลังงาน รวมถึงผู้ส่งออกอาหารไปสหภาพยุโรป เป็นต้น เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อีกทั้งการประเมินมูลค่าผลกระทบจะประเมินเมื่อเกิดประโยชน์ปลายทาง โดยไม่ได้มีการออกแบบการเกิดผลกระทบตั้งแต่ต้น

ทีมผู้บริหารจึงมีแนวคิดในการออกแบบกลไกที่จะเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาข้อเสนอโครงการให้เกิดผลกระทบและการลงทุนสูงตั้งแต่ต้น (Outcome-Impact by Design) โดยเริ่มจากวิเคราะห์ลักษณะโครงการที่เกิดผลกระทบสูง เพื่อนำมาวางเกณฑ์การประเมินศักยภาพของแผนงาน/โครงการ และกำหนดแนวทางการออกแบบและพัฒนาข้อเสนอโครงการให้มีองค์ประกอบ รวมถึงกิจกรรมและกระบวนการต่างๆ อย่างครบถ้วน สอดคล้อง และสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ

อนาคตที่คาดหวัง อุปสรรค และข้อเสนอแนะ

ที่ผ่านมาการประเมินความสำเร็จหรือความก้าวหน้าของบุคลากรพิจารณาจากผลผลิต เช่น บทความทางวิชาการ (paper) สิทธิบัตร (patent) และต้นแบบ (prototype) หรือที่เรียกว่า 3P โดยที่ผลผลิตเหล่านี้สร้างเพียงองค์ความรู้แต่ยังไม่เชื่อมโยงไปถึงผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังไม่มีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากการผลิตผลงานที่สร้างองค์ความรู้เพียงอย่างเดียวกับคนที่ผลิตผลงานที่มีความร้อยเรียงตั้งแต่ผลผลิต-ผลลัพธ์-ผลกระทบ จึงทำให้การขับเคลื่อนไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่มีประเมินความสำเร็จหรือความก้าวหน้าของบุคลากรจากการผลิตผลงานที่มีการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ หรือเชิงสาธารณประโยชน์เป็นไปได้ยาก

ถ้าเอ็มเทคต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ (outcome oriented) อาจจะต้องคิดถึง มิติในการประเมินคน และการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันเรื่องการให้ความสำคัญกับผลงานที่มีความร้อยเรียงไปจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งการที่จะประสบความสำเร็จนั้นทีมสนับสนุนต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจต้องมีการติดตามผลงานตั้งแต่ที่ทีมวิจัยพัฒนาผลผลิตไปจนถึงสร้างผลลัพธ์และผลกระทบ หรือเสริมพันธกิจอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้ภาพรวมในการดำเนินการเพื่อไปสู่การใช้ประโยชน์ชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ดี ในประเทศที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) ที่สมบูรณ์ การทำวิจัยและพัฒนาไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยพื้นฐาน หรือนวัตกรรมก็จะมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านอื่นมาช่วยเติมเต็มจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์ แต่ประเทศไทยยังมีระบบนิเวศทางธุรกิจที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การทำงานวิจัยที่จะไปถึงการใช้ประโยชน์ได้ อาจจะต้องหาพันธมิตรเข้ามาช่วยเติมเต็ม อีกทั้งในสมัยก่อน สวทช. กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน (Key Performance Indicator, KPI) ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเป็นหลัก (technology based) แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไป หากต้องการขับเคลื่อนประเทศ เอ็มเทคควรต้องเริ่มสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่มีการบ่มเพาะ การพัฒนา และมุ่งไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์

ปัจจุบันเอ็มเทคยังไม่มีกลุ่มวิจัยใดที่สามารถวิจัยและพัฒนาได้ครบทั้งสเปกตรัม (spectrum) แต่ผลงานของเอ็มเทคเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแต่ละภาคส่วนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ผลงานยางธรรมชาติที่เอ็มเทคเข้าไปมีส่วนร่วมระหว่างต้นน้ำกับกลางน้ำโดยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกระดับน้ำยางธรรมชาติ เช่น สารรักษาสภาพน้ำยางสด นวัตกรรมน้ำยางข้นที่ลดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ, ผลงานนวัตกรรมด้านสุขภาพ เช่น เตียงนอนสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยฟื้นฟู หรือผลงานนวัตกรรมด้านอาหาร เป็นต้น

แนวทางการวิจัยในอนาคต เอ็มเทคควรต้องพิจารณาโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อประกอบการตัดสินใจและวางกลยุทธ์ไปข้างหน้า เนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมจะแสดงให้เห็นภาพรวมตลอดห่วงโซ่คุณค่า หากตรงกับศักยภาพของบุคลากร ต้นทุนด้านทรัพยากรของเอ็มเทค และมีพันธมิตรที่สำคัญในห่วงโซ่คุณค่าทั้งในเชิงเทคโนโลยี หรือผู้กำหนดนโยบายร่วมด้วย ก็จะช่วยให้เอ็มเทคสามารถกำหนดบทบาทของตัวเองที่สามารถผลิตผลงานสำหรับส่งมอบที่สร้างได้ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่ม

ความภาคภูมิใจของทีมผู้บริหารตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

การบริหารงานตลอด 8 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ทีมบริหารคือ พลังของความสามัคคี ความพยายาม ความมีเหตุมีผล ความร่วมแรงร่วมใจ และการปรับตัวของบุคลากร เพื่อที่จะฝ่าวิกฤติต่างๆ ไปได้ด้วยกัน อีกทั้งได้เห็นความเติบโตของบุคลากรรุ่นใหม่ที่สามารถผลิตผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศ

Print Friendly, PDF & Email