บทสรุปผู้บริหาร​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดำเนินงานตามพันธกิจในทิศทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฉบับที่ 7.1 (ปีงบประมาณ 2566-2570) ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนแม่บทระดับต่างๆ เช่น ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) การดำเนินงานมุ่งเชื่อมโยงความสามารถทางเทคโนโลยีวัสดุและการผลิต รวมถึงการออกแบบและวิศวกรรม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมและการลงทุนระดับสูง และให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” เพื่อสร้างผลงานที่ตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขบรรเทาปัญหาหรือพัฒนากิจการ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม

แนวทางการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศ

เอ็มเทคมุ่งมั่นพัฒนาและสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีวัสดุ ผ่านกลไกการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย และการส่งมอบ ใช้ Technology/Research S-curves เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารงานวิจัย การจัดสรรทรัพยากร และวางแผนการทำงาน เพื่อส่งมอบผลผลิต (output) จากการวิจัยในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ บทความ ต้นแบบ และทรัพย์สินทางปัญญา ต่อยอดไปสู่ผลลัพธ์ (outcome) คือ การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ ผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี การรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย อันนำไปสู่การสร้างผลกระทบ (impact) และการลงทุน (investment) ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและบริการทางวิศวกรรม ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม และเกษตรกรรม โดยชูประเด็นด้าน Circular Economy, Health and Wellness ที่เป็นโจทย์ของประเทศและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ คือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) รวมถึงด้าน Industry 4.0 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ

• กลุ่มแผนงานที่เกิดการใช้ประโยชน์ 90.5 ล้านบาท (คก.ที่มีรายรับเงินนอก งปม.)
• แผนงานตอบโจทย์ประเทศ 52.3 ล้านบาท (National Agenda, แผนงานยุทธศาสตร์, แผนงานบูรณาการ)
• โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและคุณภาพของประเทศ 3.7 ล้านบาท (NSTI NQI FC)
• เทคโนโลยีฐานและสร้างขีดความสามารถด้านโลหะและวัสดุ 1.6 ล้านบาท (คก.เงินใน MTEC-Platform)
• การบริหารจัดการภายในกลุ่มวิจัย 0.2 ล้านบาท

ต้นแบบเชิงพาณิชย์/สาธารณประโยชน์ จำนวน 7 ต้นแบบ

  • ระบบติดตามปริมาณเถ้าหนักบนสายพานลำเลียงเถ้าหนักออกจากใต้เตา
  • ชิ้นส่วนโครงสร้างสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าน้ำหนักเบาสมรรถนะสูง
  • ผลิตภัณฑ์ท่อพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูงจากวัสดุหมุนเวียนปรับปรุงคุณภาพ
  • เครื่องมือวัดผลต่างอุณหภูมิเพื่อบ่งบอกปริมาณการสะสมตัวของตะกรันบนผนังท่อหม้อน้ำ
  • อุปกรณ์ป้องกันคลื่นสำหรับรถยานเกราะล้อยาง R600 8×8 แบบสะเทินน้ำสะเทินบก
  • สนามทดสอบจำลองน้ำท่วมขัง
  • อุปกรณ์ป้องกันด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ
การยื่นจดและได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญา 
1. การยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 54 คำขอ ประกอบด้วย
– สิทธิบัตร 27 คำขอ
– อนุสิทธิบัตร 25 คำขอ
– ความลับทางการค้า 2 คำขอ
2. ได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 91 คำขอ ประกอบด้วย
– สิทธิบัตร 44 คำขอ
– อนุสิทธิบัตร 47 คำขอ (โดยอนุญาตให้ใช้สิทธิจากทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อใช้ประโยชน์ 45 เรื่อง)

การพัฒนาธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยี

เอ็มเทคสนับสนุนให้ทีมวิจัยและทีมพัฒนาธุรกิจทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัยมาก่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ของผู้ประกอบการ หรือของสังคมหรือชุมชน โดยสรุปมีดังนี้ 

  • การส่งมอบผลผลิตจากโครงการเพื่อยกระดับชุมชนด้วย วทน. 7 ชุมชน
  • การส่งมอบผลผลิตจากโครงการร่วมวิจัย/รับจ้างวิจัย/ให้คำปรึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาแก่ผู้ประกอบการ 69 รายการ  

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

Print Friendly, PDF & Email