บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด

“การอบรมช่วยสร้างวิธีการทำงานใหม่ให้แก่วิศวกรและช่าง โดยจากเดิมที่อาศัยเพียงประสบการณ์ก็เปลี่ยนมาใช้ความรู้อย่างมีหลักการมากขึ้น”
คุณวิชญา เมฆสวรรค์
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทยที่ผลิตพัดลมไฟฟ้าและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน สิ่งที่บริษัทฯ ยึดมั่นมาโดยตลอดคือ การส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพสูงสุดไปยังผู้บริโภค
บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาดและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น
ปัจจุบันบริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดพัดลมไฟฟ้าโดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี
คุณวิชญา เมฆสวรรค์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทฯกล่าวว่า
“บริษัทฯ เริ่มต้นจากกิจการของครอบครัว ดังนั้นการผลิตพัดลมไฟฟ้าในยุคแรกๆ จึงอาศัยเพียงประสบการณ์โดยการลองผิดลองถูก แต่ในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น บริษัทฯ จำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่องการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งยังต้องการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าด้วย
บริษัทฯ จึงขอรับบริการฝึกอบรมกับเอ็มเทคในด้านการพัฒนาชิ้นส่วนพลาสติกและการออกแบบแม่พิมพ์ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดของเสีย และลดต้นทุนในการผลิต เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
“นักวิจัยของเอ็มเทคมีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน การใช้เทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ในการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์
ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาจริงในการฉีดขึ้นรูปชิ้นส่วนพลาสติก และการวิเคราะห์การไหลของพลาสติกในแม่พิมพ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำในอนาคต
การอบรมช่วยสร้างวิธีการทำงานใหม่ให้แก่วิศวกรและช่าง โดยจากเดิมที่อาศัยเพียงประสบการณ์ก็เปลี่ยนมาใช้ความรู้อย่างมีหลักการมากขึ้น”
คุณวิชญากล่าวถึงความพึงพอใจที่บริษัทฯ ได้รับจากการฝึกอบรม
ในอนาคตบริษัทจะยังคงรับการฝึกอบรมจากเอ็มเทคเพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และแก้ไขปัญหาในขั้นสูงต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะต่อเอ็มเทคและ สวทช. คุณวิชญาแนะนำว่า
“หน่วยงานรัฐควรประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของตนเองไปยังภาคอุตสาหกรรม เพื่อขยายความร่วมมือและร่วมกันพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน
โดยให้มีช่องทางการติดต่อที่ชัดเจนเพื่อให้อุตสาหกรรมเข้าถึงการสนับสนุนทางด้านเทคนิคและวิชาการได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ส่วนนักวิจัยและนักวิชาการควรเข้าใจการประกอบธุรกิจว่า ผู้ประกอบการต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงต้นทุนและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และสื่อสารให้เข้าใจง่ายพร้อมที่จะนำไปประยุกต์ใช้”