บริษัท พานทองกลการ จำกัด

“ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้ นอกจากจะทำให้บริษัทฯ มั่นใจถึงแนวโน้มของผลการทดสอบจริงแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุน อีกทั้งหากการทดสอบจริงมีปัญหา บริษัทฯ ก็สามารถนำข้อมูลมาปรับปรุงแบบรถโดยสารให้ดีขึ้น ส่วนในระยะยาวยังสามารถต่อยอดงานวิจัยได้อีก”


ศรีวัฏ ไตรจักรภพ

ผู้จัดการ บริษัท พานทองกลการ จำกัด

บริษัท พานทองกลการ จำกัด เป็นบริษัทในเครือกลุ่มศรีเทพไทย ดำเนินธุรกิจออกแบบและประกอบรถบัสโดยสารปรับอากาศความยาว 6-12 เมตร ทั้งแบบชั้นเดียวและสองชั้น รถตู้บรรทุกอเนกประสงค์ทุกชนิด รวมถึงรถเฉพาะกิจขนาดใหญ่ เช่น รถบ้าน รถเอกซ์เรย์ รถห้องสมุด และรถสำนักงานเคลื่อนที่

บริษัทฯ มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้า บริการ และบุคลากร เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล จึงให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบและการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในด้านความแข็งแรงและความปลอดภัยของโครงสร้างรถบัสที่ผลิตขึ้น

คุณศรีวัฏ ไตรจักรภพ ผู้จัดการ บริษัท พานทองกลการ จำกัด เล่าถึงที่มาของการทำงานร่วมกับเอ็มเทคว่า

“เนื่องจากตลาดประกอบรถโดยสารและรถดัดแปลงมีการแข่งขันสูงขึ้น อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกจะประกาศบังคับใช้มาตรฐานการทดสอบโครงสร้างของรถโดยสารในปี 2562 บริษัทฯ จึงต้องการประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถังรถโดยสารที่ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วย ก่อนจะประกอบรถทั้งคันเพื่อไปทดสอบการพลิกคว่ำจริง”

“บริษัทฯ ได้มีการพัฒนาออกแบบโครงสร้างตามมาตรฐาน แต่ไม่มีเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาทางวิศวกรรมยานยนต์ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วย จึงร่วมกับเอ็มเทค ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของประเทศที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ ทีมนักวิจัย และวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานวิจัย”

“ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้ นอกจากจะทำให้บริษัทฯ มั่นใจถึงแนวโน้มของผลการทดสอบจริงแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุน อีกทั้งหากการทดสอบจริงมีปัญหา บริษัทฯ ก็สามารถนำข้อมูลมาปรับปรุงแบบรถโดยสารให้ดีขึ้น ส่วนในระยะยาวยังสามารถต่อยอดงานวิจัยได้อีก เช่น ปรับปรุงโครงสร้างรถให้มีน้ำหนักเบาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบชิ้นส่วนใหม่ การเปลี่ยนวัสดุ การเชื่อมแบบใหม่ หรือการพัฒนาเป็นรถไฟฟ้า นอกจากนี้ เอ็มเทคยังมีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอื่นที่ตรงกับความสนใจของบริษัท ซึ่งอาจเกิดความร่วมมือได้ในอนาคต” คุณศรีวัฏกล่าว

“สำหรับการวางแผนโครงการในอนาคต อาจจะต้องวางแผนระยะเวลาเผื่อไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะได้มีเวลาร่วมศึกษาในการประกอบโครงสร้างจริง หรือร่วมทดสอบการพลิกคว่ำจริง”

“ผมเชื่อว่าหากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบข้อกำหนดมาตรฐานมีนโยบายในการยอมรับผลการวิเคราะห์ที่มาจากหน่วยงานวิจัยของรัฐด้วยกันเองก็จะทำให้เอกชนเข้ามาใช้บริการจากองค์กรวิจัยมากขึ้น” คุณศรีวัฏกล่าวทิ้งท้าย