สารเคลือบเซรามิกไฮบริดผสมกราฟีนออกไซด์สำหรับเคลือบรถยนต์

ที่มา
การเคลือบรถยนต์ประเภทเคลือบแก้ว (glass coating) หรือเคลือบเซรามิก (ceramic coating) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถยนต์ที่มีราคาแพง และกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ที่ใส่ใจในการบำรุงรักษารถยนต์ เนื่องจากสารเคลือบนี้มีจุดเด่นคือ มีความแข็งสูงและทนทาน จึงสามารถป้องกันการขีดข่วนและปกป้องสีเดิมของรถยนต์ได้ดีกว่าการเคลือบด้วยแว็กซ์หรือพอลิเมอร์ นอกจากนี้ยังมีสมบัติไฮโดรโฟบิกสูงจึงมีสมบัติไล่น้ำและคราบสกปรกได้ดี อย่างไรก็ตาม สารเคลือบกลุ่มนี้มีราคาแพงเนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทีมวิจัยและบริษัทเอกชนจึงสนใจพัฒนาสารเคลือบเซรามิกสำหรับรถยนต์ โดยต้องการพัฒนาสูตรสารเคลือบเซรามิกไฮบริดผสมกราฟีนออกไซด์เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ทดแทนสารเคลือบที่นำเข้าจากต่างประเทศ

เป้าหมาย
สูตรการผลิตสารเคลือบเซรามิกไฮบริดจำนวน 2 สูตรคือ สูตรธรรมดาและสูตรเข้มข้นที่มีสมบัติเทียบเคียงกับสารเคลือบเซรามิกที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ทีมวิจัยทำอย่างไร
การพัฒนาสารเคลือบเซรามิกไฮบริดสำหรับเคลือบรถยนต์เกิดจากการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เดิมของทีมวิจัยเรื่องสารเคลือบซูเปอร์ไฮโดรโฟบิกที่มีสมบัติทำความสะอาดตัวเอง ประกอบกับการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลทางเคมีและองค์ประกอบสารเคลือบเซรามิกสำหรับรถยนต์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อเป็นสารเคลือบรถยนต์ให้มีสมบัติเทียบเท่าสารเคลือบเชิงพาณิชย์อ้างอิง เมื่อได้ตัวอย่างสารเคลือบที่มีสมบัติใกล้เคียงตามที่กำหนดแล้ว จึงส่งมอบให้บริษัททดสอบประสิทธิภาพการใช้งานแล้วนำผลการทดสอบไปพัฒนาต่อเพื่อให้มีสมบัติดีขึ้นจนผ่านการทดสอบการใช้งาน จากนั้นจึงส่งมอบสูตรสารเคลือบให้บริษัทเพื่อผลิตและจำหน่ายในท้องตลาด

ผลิตภัณฑ์สารเคลือบที่ทดลองวางจำหน่าย

ผลงานวิจัย

ต้นแบบสารเคลือบเซรามิกไฮบริดผสมกราฟีนออกไซด์สำหรับเคลือบรถยนต์จำนวน 2 สูตรคือ สูตรธรรมดาและสูตรเข้มข้น โดยมีค่ามุมสัมผัสของหยดน้ำ (water contact angle) ประมาณ 110 องศา มีความแข็งระดับ 9H และมีความทนทานอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งเทียบเคียงกับสารเคลือบเซรามิกนำเข้าจากต่างประเทศ

สถานภาพการวิจัย
ผลงานนี้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ให้แก่ บริษัท เน็กซ์สเต็ป คาร์เวิลด์ จำกัด

แผนงานวิจัยในอนาคต
การพัฒนาต่อยอดให้สารเคลือบมีสมบัติเพิ่มเติม เช่น สมบัติซ่อมแซมตัวเองได้ เป็นต้น

รายชื่อทีมวิจัย
ดร.สิทธิสุนทร สุโพธิณะ, มัณฑนา สุวรรณ, นุจรินทร์ แสงวงศ์

ติดต่อ
ดร. สิทธิสุนทร สุโพธิณะ
ทีมวิจัยเคมีเซรามิก
กลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4234
อีเมล sitthis@mtec.or.th

© 2022 All rights reserved​

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

Print Friendly, PDF & Email