ไบโอชาร์กับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

มาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยของไบโอชาร์ มาตรฐานช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอชาร์ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและระดับสากล นอกจากนี้ยังเป็นการผลักดันให้ไบโอชาร์สามารถเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับไบโอชาร์ และพัฒนาระเบียบวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของไบโอชาร์ การจัดทำได้ศึกษามาตรฐานและระเบียบวิธีการของต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย ทั้งนี้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับไบโอชาร์ที่ใช้ในระดับสากล เช่น European Biochar Certificate (EBC) ของยุโรป, International Biochar Initiative (IBI) ของสหรัฐอเมริกา, หรือในเอเชีย เช่น Singapore Standard (SGS) มาตรฐานเหล่านี้เป็นมาตรฐานสมัครใจ เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติพื้นฐาน การจัดหาและความยั่งยืนของวัสดุชีวมวล ซึ่งครอบคลุมชนิดและแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาใช้ มีข้อกำหนดองค์ประกอบทางเคมีของไบโอชาร์ และจำกัดสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ มาตรฐานยังครอบคลุมกระบวนการผลิตและเตาผลิตไบโอชาร์ ซึ่งประกอบด้วยแนวทางการควบคุมกระบวนการไพโรไลซิส เพื่อให้โบโอชาร์ที่ผลิตได้มีคุณภาพสม่ำเสมอ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอน

สำหรับความพร้อมระเบียบวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของโบโอชาร์ในประเทศ ปัจจุบันไทยมีกลไก T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเปิดให้มีการขึ้นทะเบียน และรับรอง ‘คาร์บอนเครดิต’ ซึ่งได้แก่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ ทั้งนี้คาร์บอนเครดิตสามารถนำไปใช้รายงาน เพื่อใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กรและจากการผลิตผลิตภัณฑ์ได้

การพัฒนาระเบียบวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของไบโอชาร์อ้างอิงมาตรฐานวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของไบโอชาร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น Puro Earth, Carbon Standards International (CSI), Verra (VCS VM0044) และ Gold Standard

ทั้งนี้ระเบียบวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนจะครอบคลุมหัวข้อขอบเขตการประเมิน การประเมินเสถียรภาพของคาร์บอน ระยะเวลาการกักเก็บ วิธีการคำนวณคาร์บอนที่กักเก็บ และการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม การนำมาตรฐานสากลมาใช้ในประเทศไทยยังต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งจากความหลากหลายของวัตถุดิบชีวมวลเอง ความขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและห้องปฏิบัติการทดสอบในประเทศ ความซับซ้อนของกระบวนการรับรอง ตลอดจนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการพัฒนามาตรฐานที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพเศรษฐกิจของประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ไบโอชาร์ไทยสามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน

ติดต่อสอบถามข้อมูล:
ทีมวิจัยวัสดุและระบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ดร. เปรมฤดี กาญจนปิยะ
โทรศัพท์ 0-2564-6500 ต่อ 4452
เว็บไซต์:  https://www.mtec.or.th/env-research-group-sma-team/