เอ็มเทค สวทช. ชูนวัตกรรม “กันเธอ–เจนีน” ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568

กรุงเทพฯ – ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวนวัตกรรม “Gunther IMU – Janine Application” ระบบตรวจจับและป้องกันการหกล้มด้วยปัญญาประดิษฐ์ ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

         เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 ดร.ศราวุฒิ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. ได้ขึ้นกล่าวบนเวที Highlight Stage เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการวิจัย “กันเธอ–เจนีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โครงการนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อประเมินและลดความเสี่ยงจากการหกล้มในผู้สูงอายุ ผ่านการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีหลัก 2 ส่วน ได้แก่ “กันเธอ” (Gunther) อุปกรณ์วัดการเคลื่อนไหวแบบสวมใส่ขนาดเล็ก และ “เจนีน” (Janine) แอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์กันเธอเพื่อติดตาม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จากการทดสอบใช้งานร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 50 คน โครงการได้รับผลตอบรับในเชิงบวก ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพในการขยายผลใช้งานในวงกว้าง โดยคาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นใจ มีสุขภาพดี และใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น

         หลังจากนั้น ดร.พิมพ์พิมล แดงอินทวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้บรรยายในหัวข้อ “Fall Insight: รู้ทัน ป้องกันการหกล้ม” โดยเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า หนึ่งในสามของผู้สูงอายุทั่วโลกจะประสบกับการหกล้มในแต่ละปี และในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต โดยปัจจัยเสี่ยงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ปัจจัยภายใน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสื่อมของร่างกายตามวัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบหลอดเลือด หัวใจ สายตา การได้ยิน กล้ามเนื้อ กระดูก ระบบประสาท รวมถึงโรคประจำตัวและการใช้ยาหลายชนิด และปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น พื้นลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ หรือการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินที่ไม่เหมาะสม

การประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นสามารถทำได้โดยใช้แบบทดสอบ Time Up and Go Test หากใช้เวลาในการลุก เดิน และกลับมานั่งเกิน 13.5 วินาที จะถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการหกล้ม พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำแนวทางการป้องกันที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม การปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย

       ด้าน ดร.เปริน วันแอเลาะ นักวิจัยจาก MTEC สวทช. ได้อธิบายรายละเอียดของนวัตกรรม โดยระบุว่า “กันเธอ” (Gunther) เป็นอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ใช้งานง่าย และสามารถสั่นเตือนเบา ๆ เมื่อผู้ใช้อยู่ในท่าทางที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยออกแบบให้สวมใส่ร่วมกับเสื้อผ้าในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ขณะที่ “เจนีน” (Janine) เป็นแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่เสมือนโค้ชส่วนตัว แสดงผลการเคลื่อนไหว ประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้มด้วยแบบทดสอบ Time Up and Go Test และสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลทันทีหากเกิดการหกล้ม ทั้งยังออกแบบอินเทอร์เฟซให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ทั้งในด้านขนาดตัวอักษรและโทนสี เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายและเข้าถึงได้จริง

          เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าใจการทำงานของระบบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คุณฮาซียะห์ แวหามะ ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัยจาก MTEC ได้สาธิตการใช้งานแบบเรียลไทม์ โดยแสดงให้เห็นว่า Time Up and Go Test สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยใช้เพียงเก้าอี้ที่มั่นคงและพื้นที่ว่างประมาณ 3 เมตร แอปพลิเคชันจะเริ่มจับเวลาเมื่อผู้ใช้ลุกจากเก้าอี้ เดินไปกลับ และกลับมานั่ง จากนั้นจะแสดงผลการประเมินทันที พร้อมบันทึกข้อมูลย้อนหลัง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามความก้าวหน้าของตนเองได้อย่างต่อเนื่องและเข้าใจง่าย การสาธิตนี้ช่วยตอกย้ำถึงประโยชน์ของนวัตกรรมที่มุ่งส่งเสริมการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง

           ตลอดระยะเวลาการจัดงานระหว่างวันที่ 16–20 มิถุนายน 2568 นวัตกรรม Gunther IMU – Janine Application ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง ณ บูทนิทรรศการในโซน Highlight ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 โดยมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการสาธิตการทำงานของระบบ Gunther และแอปพลิเคชัน Janine ผ่านอุปกรณ์จริงและสื่อมัลติมีเดีย ช่วยให้ผู้เข้าชมเห็นภาพการใช้งานในสถานการณ์จริงได้อย่างชัดเจน สะท้อนถึงศักยภาพของงานวิจัยไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัย และมีความพร้อมในการต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนและประเทศต่อไป