MTEC สวทช. ชวนผู้ส่งออกไทยเร่งเตรียมข้อมูล “รับมือ CBAM ก่อนถึงกำหนดบังคับใช้เต็มรูปแบบใน EU”

19 มิถุนายน 2568
ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

           ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. จัดงานสัมมนาหัวข้อ “รับมือมาตรการ CBAM ด้วยความเข้าใจ: การเตรียมข้อมูลสำหรับการส่งออก EU” ภายในงาน Manufacturing Expo 2025 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยรับมือกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism – CBAM) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังจะบังคับใช้เต็มรูปแบบ

          งานสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทีมวิจัยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เอ็มเทค สวทช. ได้แก่ คุณวันวิศา ฐานังขะโน และนางสาวณัฐสุดา ยกชู ซึ่งได้ให้ความรู้เจาะลึกเกี่ยวกับ CBAM และแนวทางการเตรียมข้อมูลอย่างถูกต้อง โดยอธิบายว่า CBAM เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย European Green Deal และมาตรการ “Fit for 55” ของ EU มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และเพิ่มความชอบธรรมในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป สินค้าที่อยู่ในเฟสแรกของมาตรการประกอบด้วยเหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, ซีเมนต์, ปุ๋ย, ไฮโดรเจน และไฟฟ้า ผู้ประกอบการควรตรวจสอบรหัส CN Code ของสินค้าตนเองอย่างละเอียด เนื่องจากไม่ใช่ทุกรหัสสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะถูกบังคับให้รายงานค่า CBAM และในอนาคตมีแนวโน้มจะขยายขอบเขตไปยังเซรามิกและแก้ว

          ปัจจุบันมาตรการ CBAM อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 ซึ่งผู้ประกอบการมีหน้าที่เพียงรายงานข้อมูลการนำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก 3 เดือน โดยยังไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าคาร์บอน ส่วนระยะบังคับใช้จริง (Definitive Period) เดิมกำหนดวันที่ 1 มกราคม 2569 มีแนวโน้มจะเลื่อนออกไปเป็น 1 มกราคม 2570 ซึ่งจะเริ่มมีการเรียกเก็บเงินค่าคาร์บอน และการรายงานจะเปลี่ยนเป็นการรายงานปีละครั้งภายในวันที่ 31 พฤษภาคม (และมีแนวโน้มเลื่อนเป็นเดือนตุลาคม) สำหรับสินค้าที่มีปริมาณการส่งออกน้อยกว่า 50 ตันต่อปีจะได้รับการยกเว้นจากมาตรการนี้

           การคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ฝังอยู่ในสินค้า (Specific Embedded Emission) จะพิจารณาเฉพาะการปล่อยก๊าซโดยตรงจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการผลิต รวมถึงการปล่อยก๊าซทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้าและความร้อน ซึ่งแตกต่างจากการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์ (CFP) หรือคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร (CFO) หากนำมาใช้โดยตรงอาจทำให้ค่าสูงเกินจริงและเสียเปรียบได้ ผู้ส่งออกจะต้องซื้อ CBAM Certificate ซึ่ง 1 ใบรับรองเท่ากับปริมาณคาร์บอน 1 ตันที่ปล่อยเกินจากที่กำหนด โดยราคาจะอ้างอิงกับราคาปิดเฉลี่ยรายสัปดาห์ของสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดสหภาพยุโรป (EU ETS) ที่มีการผันผวนคล้ายหุ้น และในระยะบังคับใช้จริงจะต้องมีการรับรองข้อมูลโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต

          ทั้งนี้ EU ได้จัดเตรียม CBAM Communication Template (ไฟล์ Excel) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกรอกและรายงานข้อมูล โดยผู้ประกอบการควรใช้ Template เวอร์ชันล่าสุดเสมอ (ปัจจุบันคือ 2.1.1) แม้จะอนุญาตให้ใช้ค่า Default Value หากไม่สามารถหาข้อมูลจริงจากซัพพลายเออร์ได้ แต่ค่าเหล่านี้มักจะถูกกำหนดไว้สูงกว่าความเป็นจริงเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจัดหาข้อมูลจริงจากต้นทาง

เอ็มเทค สวทช. พร้อมเป็นพันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนและให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการไทย เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมและปรับตัวรับมือกับมาตรการ CBAM ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสและขยายตลาดสำหรับสินค้าไทยที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำในเวทีโลก