ไบโอชาร์ ถ่านที่ไม่ธรรมดา

เรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ไบโอชาร์ (biochar) แตกต่างจากถ่านทั่วไป (charcoal) ตรงจุดมุ่งหมายหลักของการใช้ประโยชน์ เนื่องจากถ่านทั่วไปใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ไบโอชาร์ใช้เพื่อกักเก็บคาร์บอนในระยะยาวด้วยการตรึงคาร์บอนในรูปของแข็งที่มีความเสถียรมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้ชีวมวลอินทรีย์ย่อยสลายไปตามธรรมชาติและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
ไบโอชาร์เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการกำจัดคาร์บอน (carbon removal) ที่สามารถช่วยให้แต่ละประเทศบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ Net Zero Emissions (NZE) อันสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีไบโอชาร์จัดเป็นมาตรการสำคัญเพิ่มเติม ตามแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำหนดไว้ใน Nationally Determined Contribution (NDC) ที่ไทยกำหนดภายใต้กรอบข้อตกลงปารีส
ไบโอชาร์ไม่เพียงช่วยการกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) ลงในดินนานนับร้อยปีเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นสารปรับปรุงดิน (soil amendment) โดยไบโอชาร์ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มการถ่ายเทอากาศ ช่วยการอุ้มน้ำของดิน ส่งเสริมจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน เพิ่มความสามารถในการกักเก็บสารอาหาร และยังประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อพืช และเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ต่อเกษตรกรรมในระยะยาว
นอกจากภาคการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภาคเกษตรกรรมที่นำไบโอชาร์ไปใช้ประโยชน์เพื่อการกักเก็บคาร์บอนและการปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังมีการใช้ประโยชน์โบโอชาร์ในด้านอื่นๆ อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างเนื่องจากไบโอชาร์เป็นฉนวนความร้อนที่ดี จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร ตลอดจนสามารถนำไปผสมกับคอนกรีต เพื่อปรับปรุงความแข็งแรงและความทนทานของคอนกรีตได้อีกด้วย
ไบโอชาร์ยังมีการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การบำบัดน้ำเสีย การกรองอากาศ หรือการใช้เป็นวัสดุดูดซับในอุตสาหกรรมต่างๆ
ด้วยคุณประโยชน์มากมาย ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวและใช้ประโยชน์จากไบโอชาร์กันอย่างแพร่หลาย โดยมีมูลค่าการตลาดรวมกันทั้งโลกราวพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ที่สำคัญคือยังคงมีอัตราการเติบโตสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่อง ตลาดสำคัญของไบโอชาร์อยู่ที่ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเองก็มีสัดส่วนขนาดทางการตลาดที่ใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
เอ็มเทคและหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ มุ่งมั่นร่วมมือดำเนินการวิจัยและพัฒนา และผลักดันการใช้ประโยชน์ไบโอชาร์ในประเทศไทย ครอบคลุมการภาคการเกษตร การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต ตลอดจนเร่งจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ใช้ไบโอชาร์ที่มีคุณภาพอย่างปลอดภัย
ติดต่อสอบถามข้อมูล:
ทีมวิจัยวัสดุและระบบเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
ดร.เปรมฤดี กาญจนปิยะ
โทรศัพท์: 0 2564 6500 ต่อ 4452
อีเมล: premrudk@mtec.or.th