บริษัท อินโนเวชั่น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

วัฒนา เทพปินตา ผู้ช่วยผู้จัดการ แผนกวิจัยและพัฒนา (ซ้าย) และ
อาทิชา โยธารักษ์ ผู้จัดการด้านเทคโนโลยี แผนกวิจัยและพัฒนา (ขวา)
“เนื้อหาของหลักสูตรนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพมากเพราะมีการวางแผนหลักสูตรร่วมกัน”
วัฒนา เทพปินตา
ผู้ช่วยผู้จัดการ แผนกวิจัยและพัฒนา
บริษัท อินโนเวชั่น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายยางคอมพาวด์ ยางสังเคราะห์ พลาสติกคอมพาวด์ แม่พิมพ์ยางและพลาสติก ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่างๆ เช่น โอริง ซิล ชิ้นส่วนยางในยานยนต์ ยางปัดน้ำฝน ชุดหมีกันความร้อน รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายสารเคมีจากบริษัทชั้นนำของโลกด้วย
บริษัทมีศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านโพลิเมอร์ทั้งยางและพลาสติก และปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อตั้งศูนย์ต้นแบบ (prototype center) ทั้งนี้ คุณอาทิชา ผู้จัดการด้านเทคโนโลยี แผนกวิจัยและพัฒนากล่าวว่า “เนื่องจากบริษัทกำลังก่อตั้งศูนย์ต้นแบบที่ดำเนินกิจการ 3 ส่วนหลักคือ 1) การออกแบบชิ้นส่วน 2) การใช้ไฟไนต์เอลิเมนต์ในการจำลองชิ้นส่วนที่ออกแบบ 3) การออกแบบแม่พิมพ์เพื่อผลิตชิ้นส่วน แต่บุคลากรส่วนใหญ่ของบริษัทจบการศึกษาในสาขาโพลิเมอร์จึงไม่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟไนต์เอลิเมนต์ ดังนั้นบริษัทจึงต้องการผู้ที่มีความรู้เข้ามาอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากร”
“เนื่องจากบริษัทฯ เคยใช้บริการด้านการวิเคราะห์ทดสอบกับเอ็มเทค และขยายผลไปสู่งานร่วมวิจัย นักวิจัยเอ็มเทคให้ความรู้ว่าการใช้ไฟไนต์เอลิเมนต์ช่วยแก้ปัญหาให้แก่บริษัทได้ บริษัทจึงขอรับบริการในส่วนของการฝึกอบรมของเอ็มเทคในหัวข้อการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้านคอมพิวเตอร์ช่วยในงานทางวิศวกรรม (Finite Element Method in Engineering) ซึ่งเป็นหลักสูตรต่อเนื่องระยะเวลากว่า 1 ปี”
คุณวัฒนาหนึ่งในบุคลากรที่ได้รับการอบรมกล่าวว่า “เนื้อหาของหลักสูตรนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพมากเพราะมีการวางแผนหลักสูตรร่วมกัน ทำให้บุคลากรของบริษัทได้รับความรู้ที่ตรงกับการใช้งานจริง เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มพูนความรู้จากที่ไม่มีเลยจนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ได้ประมาณร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 ที่เหลือคือ การเชื่อมโยงองค์ความรู้นี้กับศาสตร์ด้านอื่น เช่น การตรวจสอบผลจำลองที่ได้จากไฟไนต์เอลิเมนต์เทียบกับการทดสอบจริง และการเพิ่มความแม่นยำของการจำลองด้วยไฟไนต์เอลิเมนต์โดยการใช้พารามิเตอร์ที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งศาสตร์นี้คงต้องได้รับการอบรมในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้ผลที่ได้มีความถูกต้อง เกิดประโยชน์ในแง่ลดต้นทุน และประหยัดเวลา”
สำหรับข้อเสนอแนะต่อเอ็มเทค คุณอาทิชากล่าวว่า “นักวิจัยเอ็มเทคมีความตั้งใจถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรม และภายหลังที่จบหลักสูตรแล้วก็ยังคงให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตบริษัทต้องการรับบริการฝึกอบรมด้านไฟไนต์เอลิเมนต์ในขั้นสูงต่อไป รวมถึงหลักสูตรอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรของบริษัทด้วย หากเอ็มเทคมีการประชาสัมพันธ์ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของนักวิจัยให้มากขึ้น ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมต่อไป”