ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน

“ด้วยความต้องการที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนากระดูกและข้อโลหะเทียมที่มีคุณภาพทัดเทียมกับของต่างประเทศ มีขนาดที่เหมาะกับกายวิภาคของคนไทย แต่มีราคาถูกลงเพื่อให้ผู้ป่วยไทยได้ใช้”
นายแพทย์ปิยะ เกียรติเสวี
ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน
นายแพทย์ปิยะ เกียรติเสวี เป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมสาขาออร์โธปิดิกส์ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน และเป็นแพทย์แกนนำ กลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ผู้ริเริ่มพัฒนากระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบน คุณหมอได้กล่าวถึงแนวคิดของงานวิจัยนี้ว่า
“ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิสามารถรักษาให้หายได้ถ้ารักษาแต่เนิ่นๆ การรักษาจะใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด หากมะเร็งมีขนาดใหญ่ แพทย์จะตัดอวัยวะที่เป็นมะเร็งออก แต่หากมะเร็งมีขนาดเล็ก แพทย์จะรักษาอวัยวะนั้นไว้โดยตัดเฉพาะกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก จากนั้นจึงใส่กระดูกและข้อโลหะเทียมแทน”
อย่างไรก็ดี กระดูกและข้อโลหะเทียมเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจึงมีราคาสูงมาก ผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้จึงต้องใช้ทางเลือกอื่น เช่น ใช้กระดูกบริจาคซึ่งไม่ได้แข็งแรงมากนัก ผ่าตัดด้วยวิธีอื่น หรือตัดอวัยวะนั้นทิ้งเพื่อป้องกันมะเร็งลุกลาม ถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต คุณหมอกล่าวต่อว่า
“ด้วยความต้องการที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนากระดูกและข้อโลหะเทียมที่มีคุณภาพทัดเทียมกับของต่างประเทศ มีขนาดที่เหมาะกับกายวิภาคของคนไทย แต่มีราคาถูกลงเพื่อให้ผู้ป่วยไทยได้ใช้”
เมื่อถามที่มาของการได้ร่วมงานกับเอ็มเทค คุณหมอปิยะกล่าวว่า
“ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามพัฒนากระดูกและข้อโลหะมานานแล้วแต่ติดปัญหาหลายอย่าง จนกระทั่งได้รู้จัก ดร.กฤษณ์ไกรพ์ และ ดร.กวิน ทีมวิจัยของเอ็มเทค จึงได้ร่วมปรึกษากันถึงแนวทางในการพัฒนา และได้ข้อสรุปว่าจะพัฒนากระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบนก่อนในโครงการแรก และเพื่อให้ผลงานนี้เป็นสมบัติของส่วนรวม เกิดการใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย จึงระดมความคิดเห็นจากกลุ่มสมาชิกแพทย์อนุสาขาด้านเนื้องอกในการออกแบบชิ้นส่วนที่จะพัฒนา เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเกิดข้อขัดแย้งน้อยที่สุด”
“ความสำเร็จของงานนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกคน การทำงานร่วมกับทีมวิจัยเอ็มเทคราบรื่นดี ทีมวิจัยเอ็มเทคให้ความช่วยเหลือหลายอย่าง ทั้งในเรื่องทางเทคนิคและการประสานงานกับบริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด ในเรื่องการผลิต นักวิจัยมีความเชี่ยวชาญ จริงใจ ทุ่มเท เสียสละ และถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานเป็นทีม ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนากระดูกและข้อเทียมส่วนสะโพกร่วมกันอีกด้วย” คุณหมอปิยะกล่าว
คุณหมอปิยะยังได้เสนอให้มีการเยี่ยมชมงานวิจัยของเอ็มเทคและ สวทช. และมีการร่วมหารือกันระหว่างกลุ่มนักวิจัยและคณะแพทย์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา จะได้ก่อเกิดงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประเทศมากยิ่งขึ้น