บริษัท สยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด

มาลี ธนาเพิ่มพูลผล
กรรมการผู้จัดการ
“การร่วมงานวิจัยและพัฒนากับหน่วยงานภายนอก ทำให้เราได้เห็นภาพกว้างขึ้นและเรียนรู้ได้มากขึ้นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นและรู้มาก่อน และสามารถนำไปต่อยอดได้ บริษัทฯ จึงมีความพอใจอย่างยิ่งในการทำงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทค ผลงานวิจัยที่ออกมาก็เป็นไปตามแผนงานและเวลาที่กำหนด”
บริษัทสยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง เครือเอสซีจี ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ เอสซีจีซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจีเคมิคอลส์ และเอสซีจีแพคเกจจิ้ง
บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2496 เป็นผู้ผลิตวัสดุทนไฟชั้นนำรายแรกในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการด้านวัสดุทนไฟภายในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้กิจการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตวัสดุทนไฟรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้ผลิตวัสดุทนไฟรายแรกและรายเดียวที่ได้รับรางวัล Deming Application Prize ในปี พ.ศ. 2546
บริษัทฯ มุ่งเน้นพัฒนาวัสดุทนไฟและบริการทางเทคนิคแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก แก้ว ปิโตรเคมี เซรามิก อะลูมิเนียม ตะกั่ว ดีบุก หม้อไอน้ำ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ความร้อนในกระบวนการผลิต และได้มีการขยายฐานการผลิตโดยการร่วมทุนกับผู้ผลิตในประเทศจีน ในปี พ.ศ.2554
คุณมาลี ธนาเพิ่มพูลผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด เล่าถึงที่มาของการทำงานร่วมกับเอ็มเทคว่า
“บริษัทฯ มีทีมงานวิจัยและพัฒนาสินค้าอยู่แล้ว แต่เนื่องจากสภาวะตลาดมีการแข่งขันสูงและต้องการความรวดเร็ว ถ้ามีงานไหนที่ต้องการความชำนาญเป็นพิเศษและไม่สามารถรอได้ ก็จะมองหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเข้ามาช่วยในรูปแบบของการทำวิจัยร่วมหรือรับจ้างวิจัย โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น เอ็มเทค ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทคมาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการแล้ว”

หัวเผาที่ได้รับการติดตั้งหนามเตย
บริษัทฯ ได้ติดตั้งคอนกรีตทนไฟเพื่อใช้เป็นฉนวนกันความร้อนบริเวณหัวเผาของเตาเผา (kiln burner) และทางออกของเตาเผา (kiln outlet) ให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมซีเมนต์ ซึ่งปกติจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 6-8 เดือน และ 10-12 เดือน ตามลำดับ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นกะทันหันทำให้เสียเวลาซ่อมและลูกค้าเสียโอกาสในการผลิต ผู้ใช้งานจึงต้องการเพิ่มอายุการใช้งานของสินค้า เพื่อให้การผลิตดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 18 เดือน บริษัทฯ จึงร่วมมือกับเอ็มเทคในการพัฒนาและออกแบบคอนกรีตทนไฟสำหรับเป็นฉนวนกันความร้อนบริเวณหัวเผาของเตาเผาและทางออกของเตาเผาด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์
“ผลที่ได้จากการออกแบบคอนกรีตทนไฟและหนามเตยที่บริเวณหัวเผาของเตาเผาและทางออกของเตาเผาด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ บริษัทฯ ได้นำไปใช้ปรับปรุงเตาจำนวน 11 เตา ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานสูงขึ้นและยืดอายุการใช้งานของสินค้า จากเดิมที่ต้องซ่อมปีละ 1-2 ครั้ง เป็น 1.5 ปีซ่อม 1 ครั้ง สามารถช่วยลูกค้าลดการสูญเสียโอกาสในการผลิต และลดการใช้พลังงานน้ำมันเตาในการจุดเตาเพื่อเริ่มต้นการผลิตใหม่ คิดเป็นมูลค่าต้นทุนที่ลดลงได้หลายล้านบาทต่อปี”

อิฐฉนวนทนไฟความหนาแน่นต่ำ
วัสดุทนไฟสามารถทนทานต่อความร้อนสูงมากกว่า 1,000 องศาเซลเซียส โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางกายภาพและเคมีอย่างฉับพลัน จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ความร้อนในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการใช้เป็นโครงสร้างของเตาเผาในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แก้ว โลหะ เซรามิก และปูนซีเมนต์ ความเสียหายของวัสดุทนไฟระหว่างการผลิตจะมีผลกระทบอย่างมากเนื่องจากซ่อมแซมได้ยาก และอาจจำเป็นต้องหยุดการผลิตเพื่อให้อุณหภูมิลดลงก่อนลงมือซ่อมแซม ทำให้สูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การเลือกใช้วัสดุทนไฟให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่เป็นต้นทุนจากการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ดังนั้นแนวทางการลดต้นทุนอีกทางหนึ่งสามารถทำได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการเผา และลดการสูญเสียพลังงานความร้อน
บริษัทฯ ได้ดำเนินงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทคและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาอิฐฉนวนทนไฟความหนาแน่นต่ำที่มีอะลูมินาเป็นส่วนประกอบหลัก และสามารถใช้งานได้ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,500 องศาเซลเซียส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการเผา และลดการสูญเสียพลังงานความร้อน นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของวัสดุทนไฟอีกด้วย

พิธีส่งมอบผลงานวิจัยการเตรียมอิฐฉนวนทนไฟความหนาแน่นต่ำ
“บริษัทฯ ต้องการลดต้นทุนการผลิต มีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตนเอง และสามารถต่อยอดได้ โดยจะเริ่มนำไปใช้งานกับหน่วยงานภายในเครือก่อนแล้วจึงขยายไปสู่ลูกค้าภายนอกต่อไป การมีวัสดุทนไฟที่เป็นฉนวนทนไฟที่ดี ขนาดบางลง และน้ำหนักเบา สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ ส่งผลดีต่อการเสนอขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง”
คุณมาลี กล่าวปิดท้ายว่า “การร่วมงานวิจัยและพัฒนากับหน่วยงานภายนอก ทำให้เราได้เห็นภาพกว้างขึ้นและเรียนรู้ได้มากขึ้นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นและรู้มาก่อน และสามารถนำไปต่อยอดได้ บริษัทฯ จึงมีความพอใจอย่างยิ่งในการทำงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทค ผลงานวิจัยที่ออกมาก็เป็นไปตามแผนงานและเวลาที่กำหนด โดยในโครงการต่อไป เราจะมุ่งเน้นในการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุทนไฟเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการรื้อซ่อมเตาเผาในกระบวนการผลิต”